ทารกไม่ถ่าย เป็นอาการท้องผูกที่มักเกิดขึ้นเมื่อทารกเปลี่ยนอาหาร ร่างกายขาดน้ำและขาดใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลเรื่องการกินอาหารของทารกอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการทารกไม่ถ่าย
[embed-health-tool-vaccination-tool]
สาเหตุที่ทำให้ ทารกไม่ถ่าย
อาหารที่ทารกกินและร่างกายมีของเหลวไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้อุจจาระแข็ง เหนียวและแห้งมาก จนเป็นสาเหตุทำให้ทารกไม่ถ่าย ท้องผูก และขับถ่ายยาก นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะขาดน้ำ ทารกบางคนที่ได้รับของเหลวไม่เพียงพออาจมีปัจจัยจากฟันน้ำนมขึ้น ทำให้รู้สึกไม่สบายและไม่อยากกินน้ำหรืออาหาร รวมถึงอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัด คอหรือหูติดเชื้อ จนทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมาก นอกจากนี้ ทารกที่เริ่มกินอาหารแข็งอาจกินนมหรือน้ำน้อยลง จนอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับน้ำไม่เพียงพอได้เช่นกัน
- การเปลี่ยนอาหาร ระบบย่อยอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ทารกบางคนที่เปลี่ยนมากินนมผงแทนนมแม่อาจมีอาการท้องอืดหรือท้องผูกได้ เนื่องจากนมผงอาจย่อยได้ยากกว่านมแม่ สำหรับทารกที่เริ่มกินอาหารแข็งในช่วงแรกอาจมีอาการท้องผูกเกิดขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากร่างกายกำลังเรียนรู้กับการย่อยอาหารรูปแบบใหม่
- การขาดใยอาหาร สำหรับทารกที่โตแล้วและสามารถกินอาหารแข็งได้ อาจมีปัญหาที่ร่างกายไม่ได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอจากผักและผลไม้ ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและลำไส้ จึงอาจส่งผลให้ทารกไม่ถ่ายและมีอาการท้องผูกได้
อาการทารกไม่ถ่าย
คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตอาการทารกไม่ถ่ายได้ ดังนี้
- อุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
- ทารกมีอาการไม่สบายตัว หงุดหงิด ร้องไห้งอแง
- ขับถ่ายยาก จนอุจจาระสะสมในลำไส้ปริมาณมากส่งผลให้เมื่อขับถ่ายจะมีปริมาณอุจจาระมากกว่าปกติ
- เบ่งอุจจาระยาก ร้องไห้ขณะอุจจาระ
- อุจจาระแห้ง แข็ง เป็นก้อน หรือมีลักษณะเป็นเม็ดคล้ายกระสุน
- อุจจาระและการผายลมมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- ทารกอาจกินอาหารได้น้อยกว่าปกติ
- ท้องของทารกอาจป่องหรือแข็ง
ลักษณะของอุจจาระและการขับถ่ายของทารก
ทารกหลังคลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์แรก จะมีการขับถ่ายครั้งแรกลักษณะเป็นสีดำหรือสีเขียวเข้ม เรียกว่า ขี้เทา (Meconium) และเมื่อเวลาผ่านไปอุจจาระของทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเขียว โดยสีและลักษณะของอุจจาระทารกจะมีความแตกต่างกันไปเนื่องจากระบบย่อยอาหารที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ และขึ้นอยู่กับอาหารที่ทารกกินเข้าไปด้วย ดังนี้
- หากทารกกินนมแม่ อุจจาระอาจเป็นสีเหลืองและมีความเหลวลักษณะคล้ายยาสีฟัน
- หากทารกกินนมผง อุจจาระอาจเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลือง และอุจจาระอาจเป็นก้อนกว่าทารกที่กินนมแม่
- หากทารกเริ่มกินอาหารแข็ง อุจจาระของทารกอาจนิ่มหรือเป็นก้อนแข็งมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะและสีอุจจาระของทารกเสมอ หากอุจจาระแข็ง เหนียวหรือแห้งมาก อาจเป็นสัญญาณว่าร่างกายได้รับของเหลวไม่เพียงพอ หรือร่างกายขาดน้ำมากจากความเจ็บป่วย มีไข้หรือตัวร้อนจัด หรือทารกอาจกินอาหารแข็งที่ก่อให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่าย เช่น ซีเรียล นมวัว เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรให้ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน กินอาหารแข็ง
วิธีรักษาเมื่อ ทารกไม่ถ่าย
สำหรับวิธีในการช่วยรักษาเมื่อทารกไม่ถ่าย อาจทำได้ ดังนี้
- สำหรับทารกที่กินนมผงควรตวงน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก่อนเติมนมผง เพื่อช่วยให้มั่นใจได้ว่าอัตราส่วนของน้ำต่อนมผงถูกต้อง
- หากทารกโตพอที่จะดื่มน้ำได้แล้ว ควรให้ทารกดื่มน้ำเพิ่มเติมจากนมแม่หรือนมผง เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
- สำหรับทารกที่กินอาหารแข็งได้แล้ว ควรเลือกอาหารที่มีใยอาหาร เช่น แอปเปิ้ล แครอทต้ม ลูกแพร์ ลูกพรุน เพื่อช่วยในการขับถ่าย
- ลูบหรือนวดท้องของทารกเบา ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นลำไส้ และอาจช่วยจัดการกับอาการทารกไม่ถ่ายและท้องผูกได้
- การอาบน้ำอุ่นอาจช่วยให้ทารกสบายตัวและบรรเทาอาการไม่สบายได้