backup og meta

นมผงเด็กแรกเกิด เลือกอย่างไร และนมแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

นมผงเด็กแรกเกิด เลือกอย่างไร และนมแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

นมแม่เป็นนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการและควรเป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวของเด็กแรกเกิดไปอย่างน้อย 6 เดือน แต่หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่เพียงอย่างเดียวได้ หรือไม่สะดวกให้เด็กกินนมแม่เลย ก็สามารถให้เด็กกิน นมผงเด็กแรกเกิด ได้เช่นกัน การศึกษาวิธีเลือกซื้อนมผง ประเภทนมผงที่เหมาะกับเด็กแรกเกิด ตลอดจนประเภทของนมที่ควรหลีกเลี่ยง ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกนมผงได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพของเด็ก ช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัย

[embed-health-tool-vaccination-tool]

นมผงเด็กแรกเกิด คืออะไร

นมผงเด็กแรกเกิด (Infant Formula) คือ นมดัดแปลงที่เป็นอาหารสำหรับเด็กแรกเกิดเพื่อทดแทนน้ำนมแม่ มีทั้งแบบผงที่ต้องชงกับน้ำก่อนและแบบพร้อมดื่ม มักใช้ในกรณีที่เด็กแรกเกิดไม่สามารถกินนมแม่ได้ หรือสำหรับกินควบคู่ไปกับน้ำนมแม่ในกรณีที่คุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ หรือคุณแม่ไม่สะดวกปั๊มนมและให้นมด้วยตัวเอง ทั้งนี้ คุณแม่ควรขอคำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับนมผงที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับเด็กแรกเกิดที่สุด

แม้การกินนมผงเด็กแรกเกิดจะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารและอิ่มท้องแต่นมผงและอาหารอื่น ๆ ไม่สามารถทดแทนนมแม่ได้ 100% เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการและอุดมไปด้วยแอนติบอดีที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กแรกเกิด หากเป็นไปได้จึงควรให้เด็กแรกเกิดกินนมแม่เป็นอาหารหลักเพียงอย่างเดียวไปถึงอายุ 6 เดือนเป็นอย่างต่ำ

ประเภทของ นมผงเด็กแรกเกิด

ประเภทของนมผงเด็กแรกเกิด มีดังนี้

  • นมดัดแปลงสำหรับทารก (Stage 1 formulas) อาจเรียกว่านมผงเด็กแรกเกิด หรือนมสูตร 1 นิยมทำจากนมวัว อาจผสมสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามิน เกลือแร่ น้ำมันพืช เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร โดยทั่วไป นมผงที่ทำจากนมวัวจะมีส่วนประกอบของโปรตีน 2 ชนิด คือ เวย์ (Whey) และเคซีน (Casein) นมผงสูตร 1 สำหรับเด็กแรกเกิดควรเลือกที่เป็นโปรตีนจากเวย์เนื่องจากย่อยได้ง่ายกว่า จึงอาจช่วยลดการเกิดอาการจุกเสียดหรือท้องผูก เหมาะกับเด็กแรกเกิดที่กระเพาะอาหารยังย่อยอาหารได้ไม่เต็มที่
  • นมดัดแปลงสูตร 2 (Stage 2 formulas) หรือนมสูตร 2 เป็นนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป มักมีชนิดและปริมาณของสารอาหารมากขึ้น เช่น ธาตุเหล็ก โปรตีน ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนมผงเด็กแรกเกิดจากนมสูตร 1 เป็นนมสูตร 2 ก็ได้ หากร่างกายเด็กได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากอาหารแข็ง เช่น ผักบด ตับบด ข้าวโอ๊ตบด อยู่แล้ว นมผงเด็กแรกเกิดสูตรนี้อาจเหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือไม่ค่อยกินอาหาร

นมผงเด็กแรกเกิดชนิดอื่น ๆ มีดังนี้

  • นมผงจากนมแพะ (Goats’ milk formula) ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่านมวัว แต่อาจไม่เหมาะกับเด็กที่แพ้นมวัวเนื่องจากมีโปรตีนที่คล้ายคลึงกันมากและทำให้เกิดอาการแพ้ได้เหมือนกัน
  • นมผงสูตรสำหรับทารกหิวบ่อย (Hungry formula) ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด มีโปรตีนเคซีนมากกว่าเวย์ จึงใช้เวลาย่อยนานกว่า และอาจช่วยให้เด็กแรกเกิดอิ่มท้องได้นานขึ้น
  • นมผงสูตรป้องกันกรดไหลย้อน (Anti-reflux formula) ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นนมผงสูตรเข้มข้นที่ช่วยป้องกันการเกิดอาการกรดไหลย้อนในเด็กแรกเกิด ทั้งนี้ ควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากนมชนิดนี้ใช้ชงกับน้ำอุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียส ต่างจากนมผงเด็กแรกเกิดชนิดอื่น ๆ ที่ต้องชงกับน้ำร้อนอุณหภูมิเกิน 70 องศาเซลเซียส จึงอาจเสี่ยงกำจัดแบคทีเรียในนมผงได้ไม่หมด ทั้งนี้ ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสุกไว้นานเกิน 30 นาที เพราะอาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้
  • นมผงสูตรไม่มีแลคโตส (Lactose-free formula) ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมวัวได้ ลำไส้เล็กจึงไม่สามารถดูดซึมแลคโตสไปใช้งานได้ จนอาจทำให้เด็กปวดท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นและใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ
  • นมผงสูตรสบายท้อง (Comfort formula) ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด เป็นนมผงชนิดที่สลายโปรตีนบางส่วนไปแล้ว ทำให้ย่อยได้ง่ายขึ้น และอาจช่วยป้องกันอาการจุกเสียดท้อง หรือท้องผูกได้ อย่างไรก็ตาม นมผงเด็กแรกเกิดสูตรสบายท้องไม่เหมาะกับเด็กแรกเกิดที่แพ้นมวัว และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • นมผงสูตรป้องกันภูมิแพ้ (Hypoallergenic formula) เป็นนมผงสำหรับเด็กแรกเกิดที่ย่อยโปรตีนบางส่วนให้มีโมเลกุลเล็กลง เพื่อให้ร่างกายของเด็กสามารถย่อยสารอาหารได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดที่ได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้นมวัว เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่านมผงสูตรที่ยังไม่ได้ย่อยโปรตีน ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • นมผงสูตรต่อเนื่อง (Follow-on formula) เป็นนมผงสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ที่อาจเพิ่มสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก หากให้เด็กกินนมสูตรนี้อาจปรับลดปริมาณนมให้น้อยลง เพื่อให้ทารกกินอาหารแข็งอื่น ๆ ได้ด้วย ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้สูตรนี้ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่สามารถให้เด็กกินนมสูตรเดิมได้จนถึงอายุ 1 ปี นมผงสูตรต่อเนื่องมีสารอาหารที่คล้ายกับนมดัดแปลงสำหรับทารก (Stage 1 formulas) หรือนมสูตร 1 จึงควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ละเอียดก่อนทุกครั้งก่อนซื้อ
  • นมผงสูตรก่อนนอน (Good night milk) เป็นนมผงสูตรพิเศษให้เด็กกินก่อนเข้านอน เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจเติมซีเรียลหรือสารอาหารอื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร ทั้งนี้ นมผงสูตรนี้เป็นสูตรทางเลือก และยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าช่วยให้เด็กหลับได้ง่ายขึ้นหรือนานกว่าเดิม
  • นมผงสูตรถั่วเหลือง (Soya formula) เป็นนมผงสำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป บางครั้งใช้เป็นนมผงทางเลือกในเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากถั่วเหลืองมีน้ำตาลกลูโคสที่อาจทำให้เด็กฟันผุ ทั้งยังมีสารไฟโตเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืชธรรมชาติ (Phytoestrogens) ที่อาจทำให้การพัฒนาของระบบสืบพันธุ์และการเจริญพันธุ์ผิดปกติ โดยเฉพาะในเด็กที่กินนมผงสูตรถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียวเป็นเวลานาน
  • นมผงสำหรับเด็กวัยหัดเดิน (Growing-up milk หรือ Toddler milk) เป็นนมผงทางเลือกสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับบ้านที่ไม่ต้องการให้ลูกกินนมวัว ทั้งนี้ หากเด็กไม่ได้มีอาการแพ้นมวัวหรือแพ้แลคโตส ควรให้เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปกินนมวัวรสจืด (Whole cows’ milk) เป็นประจำเพื่อให้เด็กได้รับไขมันไปบำรุงร่างกาย และอาจปรับเป็นนมชนิดพร่องมันเนยเมื่อเด็กอายุได้ 2 ปี

วิธีเลือกนมผงเด็กแรกเกิด

วิธีเลือกนมผงเด็กแรกเกิด อาจทำได้ดังนี้

  • ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์ของนมผงว่าไม่ชำรุด มีรอยบุบหรือร่องรอยฉีกขาด เพราะอาจส่งผลต่อคุณภาพของนมผงที่อยู่ภายใน และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้ทุกครั้ง ไม่ควรซื้อนมผงเด็กทารกแรกเกิดที่หมดอายุแล้วหรือใกล้ถึงวันหมดอายุจนใช้ไม่ทัน
  • สำหรับเด็กแรกเกิดที่คลอดตามกำหนด มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี และไม่ได้กินนมแม่ ควรเลือกกินนมผงเด็กแรกเกิดที่ทำจากนมวัวก่อนลองใช้นมผงประเภทอื่น ๆ เนื่องจากมีสารอาหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์และย่อยได้ง่ายที่สุด
  • นมผงเด็กแรกเกิดที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงที่สุดเสมอไป ควรเลือกนมผงที่มีคุณค่าทางโภชนาเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายและมีราคาที่เหมาะสม การเปรียบเทียบราคากับปริมาณนมผงทั้งหมดหรือปริมาณที่ต้องใช้แต่ละครั้ง อาจช่วยให้ทราบว่านมผง 1 กระป๋องจะสามารถใช้ได้นานเท่าไหร่ มีปริมาณเหมาะสมกับราคาหรือไม่
  • อ่านฉลากและตรวจสอบให้แน่ใจก่อนซื้อว่านมผงสูตรนั้น ๆ เหมาะสมกับอายุของเด็ก
  • เลือกนมผงที่มีปริมาณโปรตีนไม่สูงจนเกินไป เพราะโปรตีนส่วนเกินอาจทำให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนในภายหลังได้
  • ควรให้เด็กทารกกินนมผงสูตรเดิมอย่างน้อย 2-3 วัน ไม่ควรสลับสูตรและทดลองให้เด็กทารกกินนมผงยี่ห้อใหม่เร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กท้องเสียได้

ปริมาณการให้นมผงเด็กที่เหมาะสม

ปริมาณการให้นมผงที่เหมาะสม อาจแบ่งตามอายุของเด็กได้ดังนี้

  • เด็กอายุไม่เกิน 2 สัปดาห์ สำหรับเด็กที่กินนมผงเด็กแรกเกิดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้กินนมแม่ ควรให้นมประมาณ 1-2 ออนซ์ หรือ 30-60 มิลลิลิตร ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง อย่างน้อย 8-12 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และควรให้เพิ่มหากเด็กแสดงท่าทางว่าต้องการกินนมอีก เช่น ผงกศีรษะ ทำท่าดูดปาก ร้องไห้งอแง อ้าปากค้าง
  • เด็กอายุ 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึง 6 เดือน ควรให้นมประมาณ 3-4 ออนซ์ หรือ 90-120 มิลลิลิตร ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ในช่วงนี้ระยะห่างระหว่างการให้นมแต่ละครั้งจะนานขึ้น เนื่องจากเด็กตัวโตขึ้น กระเพาะอาหารจึงขยายตัวตาม ทำให้เด็กกินนมในแต่ละครั้งได้มากขึ้นและอิ่มนานขึ้น ทั้งนี้ การกินนมในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน หากเด็กเริ่มหลับนานกว่า 4-5 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรปลุกเด็กขึ้นมากินนมตามตารางเวลากินนมเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารเพียงพอ
  • เด็กอายุ 6-12 เดือน ควรให้นมประมาณ 6-8 ออนซ์ หรือ 180-240 มิลลิลิตร อย่างน้อย 5-6 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับอาหารแข็งตามวัยของเด็ก (Solid foods) เด็กในวัยนี้อาจกินนมได้น้อยลงเนื่องจากเริ่มกินอาหารชนิดอื่น ๆ มากขึ้น
  • เด็กอายุ 12-24 เดือน เด็กในวัยนี้อาจไม่จำเป็นต้องกินนมผงบ่อยเท่าเดิมแล้ว และกินนมผงเป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่อาจค่อย ๆ สลับไปให้เด็กกินนมวัวรสจืดหรือนมถั่วเหลืองไม่เติมน้ำตาลแทนการกินนมผง

วิธีเตรียมนมผงเด็กแรกเกิดอย่างปลอดภัย

วิธีเตรียมนมผงเด็กแรกเกิดอย่างปลอดภัย อาจทำได้ดังนี้

  • ก่อนใช้งานครั้งแรก ควรนำขวดนม จุกนม และของใช้อื่น ๆ ที่เด็กนำเข้าปาก เช่น จุกหลอก ไปต้มในน้ำร้อนอย่างน้อย 5 นาที หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างขวดนมหรือน้ำสบู่อุ่น ๆ ล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วเช็ดและตากให้แห้งทุกครั้งหลังใช้งาน
  • ล้างมือให้สะอาดและเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดก่อนชงนมผงเด็กแรกเกิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากมือ เช่น แบคทีเรีย ปนเปื้อนในนมเด็ก และควรดูแลพื้นที่เตรียมนมเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ไม่ให้เด็กกินนมชงที่ร้อนจนเกินไป เพราะอาจลวกริมฝีปากและภายในช่องปากของเด็กได้ ควรตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำนมที่ชงเสร็จแล้วทุกครั้ง ด้วยการหยดน้ำนม 2-3 หยดลงบนหลังมือ หากรู้สึกอุ่น ๆ ไม่ร้อน จึงค่อยให้เด็กกิน
  • ไม่ควรชงนมผงเด็กแรกเกิดด้วยน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้นานเกิน 30 นาที เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำอาจต่ำเกินไปจนไม่สามารถใช้ฆ่าแบคทีเรียที่อาจปะปนอยู่ในน้ำ ภาชนะ หรือในนมผงได้
  • หลีกเลี่ยงการอุ่นนมในไมโครเวฟ เพราะอาจให้ความร้อนไม่สม่ำเสมอ ทำให้นมร้อนไม่เท่ากัน และอาจลวกปากเด็กได้
  • ควรชงนมแต่ละครั้งในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของเด็ก หากเด็กกินนมขวดนั้นไม่หมดภายใน 1 ชั่วโมง ควรนำไปทิ้งทันที

เด็กแรกเกิด ไม่ควรกินนมผงแบบไหน

เด็กแรกเกิดและเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ควรหลีกเลี่ยงการกินนมดังต่อไปนี้

  • นมข้นหวาน เป็นนมที่หลายคนนิยมนำไปชงให้เด็กแรกเกิดกิน แต่เนื่องจากนมชนิดนี้มีความเข้มข้นสูง และมีสารอาหาร เช่น โปรตีน เกลือ ไขมัน ในปริมาณมาก เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก จึงควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด
  • นมข้นจืด
  • นมผงธรรมดา (Dried Milk หรือ Powder Milk) ที่ไม่ใช่นมผงเด็กแรกเกิดโดยเฉพาะ
  • นมแพะ นมแกะ ไม่ควรนำมาให้เด็กกินโดยตรง แต่สามารถใช้นมแพะและนมแกะชนิดพาสเจอร์ไรส์ในการประกอบอาหารเด็กได้
  • นมชนิดอื่น ๆ เช่น นมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง ที่ไม่ใช่สูตรที่ผ่านการสลายโปรตีนให้เหมาะกับเด็กแรกเกิด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Types of formula. https://www.nhs.uk/conditions/baby/breastfeeding-and-bottle-feeding/bottle-feeding/types-of-formula/#:~:text=Suitable%20from%20birth,than%20other%20types%20of%20formula. Accessed November 22, 2022

How Much and How Often to Feed Infant Formula. https://www.cdc.gov/nutrition/infantandtoddlernutrition/formula-feeding/how-much-how-often.html. Accessed November 22, 2022

Feeding your baby with formula. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/feeding-your-baby-with-formula. Accessed November 22, 2022

Infant formula and bottle-feeding. https://raisingchildren.net.au/newborns/breastfeeding-bottle-feeding/bottle-feeding/infant-formula. Accessed November 22, 2022

Amount and Schedule of Baby Formula Feedings. https://www.healthychildren.org/English/ages-stages/baby/formula-feeding/Pages/Amount-and-Schedule-of-Formula-Feedings.aspx. Accessed November 22, 2022

Bottle feeding – nutrition and safety. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/bottle-feeding-nutrition-and-safety. Accessed November 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

นมชงอยู่ได้กี่ชั่วโมง ควรชงนมและเก็บรักษาอย่างไร

นมสด และ นมผง แบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา