ไม่ใช่แค่ของหวานหรืออาหารไขมันสูง ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่การกิน เกลือ หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ก็เพิ่มความเสี่ยงสุขภาพได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีสังเกตอย่างไรว่า เด็กกินเค็ม มากเกินไปจนอาจทำให้เด็กๆ เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
เด็กกินเค็ม ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Journal of the Academy of Nutrition and Dietetics ให้ข้อมูลว่า เด็กบริโภค เกลือ หรือ โซเดียมเกินปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งการกินอาหารที่มีโซเดียมสูงตั้งแต่เด็ก สามารถเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งคร่าชีวิตชาวอเมริกันมากกว่า 800,000 คนในแต่ละปี และการกินอาหารที่มีรสเค็ม การบริโภค เกลือ หรืออาหารโซเดียมสูง อาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
เด็กกินเค็ม (โซเดียม) เท่าไหร่ถึงจะพอดี
เด็กควรบริโภคเกลือแต่น้อย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาหารส่วนใหญ่มักจะเพิ่มเกลือลงไป เช่น ขนมปัง ถั่วอบ หรือแม้แต่ขนมปังอบกรอบ จึงทำให้เด็กๆ กินเค็มมากเกินไป
ปริมาณ เกลือ ที่สูงที่สุดที่เด็กควรได้รับต่อวัน ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรได้รับ เกลือ น้อยกว่า 1 กรัมต่อวัน และโซเดียมน้อยกว่า 0.4 กรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรบริโภคเกลือ 2 กรัมต่อวัน และโซเดียมน้อยกว่า 0.8 กรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 4-6 ปี ควรบริโภคเกลือ 3 กรัมต่อวัน และโซเดียมน้อยกว่า 1.2 กรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 7-10 ปี ควรบริโภคเกลือ 5 กรัมต่อวัน และโซเดียมน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน
- เด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป ควรบริโภคเกลือ 6 กรัมต่อวัน และโซเดียมน้อยกว่า 2.4 กรัมต่อวัน
สัญญาณที่บอกว่า เด็กกินเค็ม มากเกินไป
อยากกินอาหารที่มีรสเค็ม
เกลือ มักจะทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กๆ จะมีแนวโน้มที่จะอยากกินอาหารที่มีรสเค็ม เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ มากกว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์อย่างผักและผลไม้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกเริ่มอยากกินอาหารที่มีรสเค็ม ควรลดการเติมเกลือหรือซอสปรุงรสในอาหาร และให้เด็กๆ กินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ
ความดันโลหิตสูง
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร American Family Physician ให้ข้อมูลว่า 7% ของเด็กอายุ 3-18 ปี มีภาวะก่อนเกิดความดันโลหิตสูง (Pre-Hypertension) หรือโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งหากเด็กเป็นโรคความดันโลหิตสูง จะไม่มีสัญญาณหรืออาการใดๆ ที่บอกว่าเป็นโรคนี้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรพาเด็กๆ ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ
ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
การบริโภค เกลือ มากเกินไป อาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มได้ นอกจากนี้ยังอาจมีกลิ่นแรงด้วย โดยไม่ใช่แค่เฉพาะเด็ก แต่สำหรับคนทุกวัยสามารถมีปัสสาวะสีเหลืองเข้มและมีกลิ่นแรง หากได้รับโซเดียมมากเกินไป ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีปัสสาวะสีเข้ม ควรปรึกษาแพทย์
น้ำหนักขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่ได้กินของหวานหรือของมัน
คุณพ่อคุณแม่มักจะให้เด็กๆ ลดการกินของหวานและไขมัน เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจทำให้เด็กๆ อ้วน แต่รู้หรือไม่ว่ามีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า น้ำหนักขึ้นอาจสัมพันธ์กับการได้รับ เกลือ มากขึ้น
ความอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นนอกจากการควบคุมน้ำตาลและไขมันแล้ว ผู้ปกครองควรระวังอาหารที่มีรสเค็มมีโซเดียมสูงด้วย เช่น อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูป เพื่อไม่ให้เด็กๆ ได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]