หากคุณลองสังเกตตนเองว่าเริ่มมีอาการเจ็บปวดบริเวณภายในช่องปาก และลำคอ หรือมีอาการต่อมรับรสเกิดการบกพร่องขณะรับประทานอาหาร ควรสำรวจอาการตนเองและรีบเร่งรักษา หรืออาจเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอโดยด่วน เพราะคุณอาจมีความเสี่ยงเป็นโรค ต่อมน้ำลายติดเชื้อ (Salivary Gland Infection) ได้
คำจำกัดความ
ต่อมน้ำลายติดเชื้อ (Salivary Gland Infection) คืออะไร
ต่อมน้ำลายติดเชื้อ (Salivary Gland Infection) สามารถเกิดได้จากแบคทีเรีย หรือไวรัสที่เข้าไปรบกวนการทำงานภายในต่อมน้ำลายของคุณ จนส่งผลให้มีการอุดตัน หรือติดเชื้อขึ้น โดยต่อมน้ำลายที่ได้รับการติดเชื้อส่วนใหญ่มีอยู่ทั้งหมด 3 คู่ด้วยกัน ดังนี้
- ต่อมน้ำลายบริเวณกกหู (Parotid gland) ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด
- ต่อมน้ำลายบริเวณขากรรไกรล่าง (Submaxillary gland) ที่อาจอยู่ด้านหลังกรามล่าง และคาง นับว่าเป็นต่อมน้ำลายที่ผลิตน้ำลายได้มากที่สุด
- ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) เป็นต่อมน้ำลายที่ค่อนข้างเล็กที่สุดอยู่บริเวณใต้ลิ้น ผลิตได้ทั้งน้ำลายชนิดใส เหนียว ข้น
ต่อมน้ำลายติดเชื้อ สามารถพบบ่อยได้เพียงใด
ต่อมน้ำลายติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และทุกช่วงวัยตั้งแต่ในวัยทารก วัยผู้ใหญ่ จนถึงวัยผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่กำลังประสบกับภาวะโรคเรื้อรัง
อาการ
อาการของต่อมน้ำลายติดเชื้อ
สำหรับผู้ป่วยบางรายหากมีอาการบวมเล็กน้อย อาจทำให้โรคนี้สามารถหายไปได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงนั้น อาจทำให้อาการเจ็บปวดดังต่อไปนี้ อยู่ได้นานถึง 1 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้น ตามสภาวะทางสุขภาพของแต่ละบุคคล พร้อมทั้งยังขึ้นอยู่กับตำแหน่งของต่อมน้ำลายที่เกิดการติดเชื้อร่วมด้วย
- มีก้อนบวมบริเวณใกล้เคียงกับขากรรไกร ลำคอ และภายในช่องปาก
- รับประทานอาหาร และกลืนอาหารอย่างลำบาก
- กล้ามเนื้อด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าคุณมีอาการอ่อนแรง เคลื่อนไหวยาก
- ไข้ขึ้น และหนาวสั่น
- การรับรู้ของรสชาติอาหารบกพร่อง
นอกจากอาการข้างต้นแล้ว หากมีอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงเพิ่มเติม เช่น หายใจลำบาก และอุณภูมิร่างกายขึ้นสูง โปรดรีบเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที ไม่ควรปล่อยไว้เป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้สุขภาพของคุณมีอการแย่ลงได้ หรือเกิดความเสี่ยงต่อการพัฒนาไปยังเนื้องอกของมะเร็งได้
สาเหตุ
สาเหตุของการเกิด อาการต่อมน้ำลายติดเชื้อ
สาเหตุของอาการนี้อาจแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากข้อบกพร่องทางสุขภาพของเรา ดังนี้
- การสะสมของเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus influenzae , Streptococcus pyogenes , Escherichia coli ที่ก่อให้เกิดนิ่วในน้ำลาย ซึ่งมักทำให้มีอาการปวด และบวมขึ้นทั้วทั้งบริเวณของต่อมน้ำลายทั้ง 3 คู่
- อาการขาดน้ำอย่างรุนแรง
- การอุดตันของนิ่วในต่อมน้ำลาย
- การติดเชื้อไวรัสจากโรคคางทูม
- สภาวะภูมิแพ้
- ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ ต่อมน้ำลายติดเชื้อ
เป็นไปได้ว่าผู้ที่จัดอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงของการเกิดต่อมน้ำลายติดเชื้อมักเป็นผู้ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่มีประวัติทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวเหล่านี้ร่วมด้วย
- โรคเบาหวาน
- พิษจากการดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง
- ภาวะปากแห้งเกิดจากน้ำลายน้อย (Xerostomia)
- กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s Syndrome)
- โรคเอดส์ หรือ HIV
- ไตทำงานผิดปกติ
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการต่อมน้ำลายติดเชื้อ
เมื่อคุณเข้าขอรับการวิจฉัย เบื้องต้นแพทย์ผู้ชาญอาจทำการซักถามประวัติทางสุขภาพของคุณ หรือตรวจร่างกายของคุณอย่างละเอียดเสียก่อน จากนั้นอาจมีการตรวจสายตา หนองในลำคอจากตุ่มที่ปวดบวมขึ้น ที่สำคัญเพื่อให้ได้เห็นลักษณะของก้อนเนื้อที่ชัดเจน แพทย์อาจทำการใช้เทคนิคเหล่านี้ เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม
- การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography Scan ; CT)
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging ; MRI)
- อัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)
- การฉีดสารบางพร้อมการเอ็กซเรย์ (Sialography)
การรักษาอาการต่อมน้ำลายติดเชื้อ
การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยกรณีที่ผู้ป่วยถูกจัดอยู่ในอาการระดับไม่รุนแรงมากนัก แพทย์อาจทำการให้ยาแก้อักเสบ ยาบรรเทาอาการปวดบวม และยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดต่อมน้ำลายติดเชื้อมาให้คุณนั้นรับประทาน
แต่ถ้าหากผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นรุนแรง มีอาการปวดบวม หรือมีก้อนเนื้อที่ค่อนข้างใหญ่มากเกินกว่าการรักษาแบบธรรมดาจะรับไหว อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดสิ่งที่อุดตัน ก้อนนิ่ว หรือหนองภายในต่อมน้ำลายออกไป เพื่อลดอาการเจ็บปวดในช่องปากของคุณ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาอาการต่อมน้ำลายอักเสบ
หลังจากที่แพทย์ได้ทำการตรวจสอบ หรือรักษาอาการต่อมน้ำลายติดเชื้อให้หายไปจากคุณแล้ว คุณอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันตามคำแนะนำถึงวิธีการดูแล รักษาตนเองเมื่ออยู่ที่บ้าน ดังนั้นโปรดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการกลับมาของอาการต่อมน้ำลายติดเชื้อ
- ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หรืออาจจิบมะนาวเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ลำคอ ช่องปาก
- รักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เช่น แปรงฟันอย่างเป็นประจำ ใช้ไหมขัดฟันยามมีเศษอาหารติดซอกฟัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ค่อย ๆ นวดบริเวณต่อมน้ำลายบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ
- รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาลในปริมาณที่น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นขนม หรือเครื่อมดื่มน้ำอัดลม เป็นต้น
[embed-health-tool-bmi]