backup og meta

เครียดแล้วอยากกินของหวาน เกิดจากสาเหตุใดกันแน่นะ

เครียดแล้วอยากกินของหวาน เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาที่คนเราเครียด แล้วต้องหาของหวานมากินนั้น ในบทความนี้มีข้อมูลมาฝาก แต่ก่อนที่เราจะไปรู้สาเหตุ มาสังเกตพฤติกรรมตัวเองกันหน่อยดีกว่าว่า คุณเป็นคนที่เครียดแล้วกินหรือเปล่า

ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ก็มีแนวโน้มว่า เวลาที่คุณเครียด คุณอาจจะมองหาของหวาน และกินมากเกินไป เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น เช่น

  • เวลาเครียดคุณจะอยากกินอาหารเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น
  • คุณกินทั้งๆ ที่ไม่รู้สึกหิว หรือว่ากินทั้งๆ ที่อิ่มแล้ว
  • คุณกินอาหารมื้อใหญ่
  • คุณไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้

ทำไมเวลา เครียดแล้วอยากกินของหวาน

  • อาหารกับความเครียด

เวลาที่คุณรู้สึกเครียดนั้น การกินตามอารมณ์ (Emotional eating) หรือการกินเพราะความเครียด (Stress eating) มักจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนอง ต่อฮอร์โมนแห่งความเครียด

งานวิจัยในปี 2010 จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและไม่มีความเครียด ผลการวิจัยพบว่า เมื่อระดับฮอร์โมนความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มว่าจะกินขนมขบเคี้ยวมากขึ้น

นอกจากนี้ความเครียด ยังอาจเพิ่มความอยากอาหาร โดยเฉพาะของหวาน เช่น โดนัท ไอศกรีม อาหารที่มีไขมันสูงและมีน้ำตาลสูง รวมถึงทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์น้อยลง กินผักน้อยลง และหันไปกินของหวานมากขึ้น

  • ระวังเรื่องน้ำหนัก

ถ้าคุณเป็นคนที่ ‘เครียดแล้วกิน’ จะต้องหาของหวานมากินในเวลาที่รู้สึกเครียด ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะหลายคนเป็นแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้ที่เครียดแล้วกินส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมากกว่าหรืออ้วนกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ได้กินอาหารเวลาเครียด

  • ของหวานกับฮอร์โมนเซโรโทนิน

สาเหตุที่ทำให้เราอยากกินของหวานเวลาเครียดนั้น เป็นเพราะว่าอาหารสามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ เช่น คอมฟอร์ทฟู้ด (Comfort food) อย่างเช่น โจ๊กหมูอุ่นๆ สักถ้วย ก็อาจจะช่วยเพิ่มเซโรโทนินหรือสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกสงบ

นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆเช่น ของหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ที่สามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่จะหลั่งออกมาในเวลาที่คุณรู้สึกเครียด การทานของหวาน เช่น น้ำอัดลม ชาเย็น กาแฟเย็น บิงซู เป็นอาหารที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย คาร์โบไฮเดรตเป็นอาหารที่กระตุ้นการสร้างเซโรโทนิน ที่เป็นสารเคมีจากสมองที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น

การกินคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายอย่างน้ำตาล จะทำให้ร่างกายย่อยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการหลั่งเซโรโทนิน แต่คุณจะรู้สึกดีได้ไม่นาน ก็จะกลับมารู้สึกเหมือนเดิมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกินของหวานจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ  หลายคนก็เลือกที่จะใช้วิธีนี้เพื่อบรรเทาความเครียด แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ควรเลือกกินของหวาน เพื่อบรรเทาความเครียด คุณควรจะจำกัดปริมาณของหวานที่กิน เพื่อสุขภาพที่ดี และรับประทานของหวานในปริมาณที่เหมาะสม ป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคเบาหวาน ที่อาจจะเป็นอันตรายแฝงตามมา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eating Healthfully During Stressful Times. https://www.webmd.com/parenting/features/stress-proof-eating.

Foods That Help Tame Stress. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-diet-for-stress-management.

Why stress causes people to overeat. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/why-stress-causes-people-to-overeat.

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/05/2020

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณและอาการทางร่างกาย อะไรบ้างที่เกิดจาก ความเครียด

กินแก้เครียด เครียดแล้วต้องกิน รีบแก้ไขก่อนจะสายเกินไป!


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย Sopista Kongchon · แก้ไข 22/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา