backup og meta

สุขภาพจิตดีขึ้นได้ เพียงออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

สุขภาพจิตดีขึ้นได้ เพียงออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

การวิ่งออกกำลังกาย เป็นรูปแบบการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งการออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้นมีส่วนช่วยในการทำให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ทำให้สมองของเรานั้นปลอดโปร่ง คิดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การวิ่งยังช่วยให้ร่างกายปล่อยสารประกอบบางอย่างที่ช่วยให้อารมณ์มีความคงที่ นอกเหนือจากประโยชน์สุขภาพอย่างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแล้ว การวิ่ง ส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วย Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านกันค่ะ

การวิ่ง ส่งเสริมสุขภาพจิต ด้านใดบ้าง

การวิ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพเราให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การวิ่งช่วยเปลี่ยนแปลงภายในสมองได้

การออกกำลังกายด้วยการวิ่งนั้น มีส่วนช่วยในการฝึกจิตใจได้มากเท่า ๆ กับการฝึกร่างกายเลยทีเดียว เพราะการวิ่งช่วยให้คุณเรียนรู้ถึงการมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งความเหนื่อยล้า และระยะทาง การวิ่งจะช่วยให้คุณได้มุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับปัญหาทั้งใหญ่และเล็ก ความอดทนในการวิ่ง ความแข็งแกร่งของร่างกาย ระยะทางเมื่อคุณพยายามเพื่อที่จะผ่านสิ่งเหล่านี้มามันจะทำให้คุณรู้สึกแข็งแกร่งขึ้น

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในสมองนั่นเอง จากการศึกษาที่พิมพ์ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience โดยนักวิจัยได้ทำการสแกนสมองของนักวิ่งหลังจากการแข่งวิ่งระยะไกล พบว่าสมองของนักวิ่งที่ทำงานได้ดี เกี่ยวข้องกับสมองส่วนที่ควบคุมตนเองและความจำในการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า การวิ่งนั้นมีประโยชน์กับสมองอีก ในการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ พบว่าผู้ที่วิ่งเป็นประจำนั้นมีความยืดหยุ่นทางความคิดมากที่สุด ช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา การมีความคิดยืดหยุ่นนั้น จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและพร้อมรับมือกับปัญหาได้อย่างดี

  • การวิ่งช่วยให้คุณมีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตนเอง

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ตนเองเหมือนกับการออกกำลังกายในกีฬารูปแบบอื่น ๆ การวิ่งจะช่วยให้นักวิ่งเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ที่เจอในขณะวิ่ง ในการวิ่งแต่ละครั้ง อาจจะเกิดความรู้สึกท้อแท้ระหว่างทาง ทั้งระยะทาง ความเหนื่อยล้า แต่เมื่อคุณวิ่งจนถึงเส้นชัย จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้ว่า ร่างกายของเรานั้นแข็งแรง สามารถวิ่งจนจบระยะได้ แถมยังช่วยเสริมพลังกายอีกด้วย

นักวิจัยพบว่า การออกกำลังกายอย่าง การวิ่ง หรือการวิ่งเหยาะ ๆ นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น เพราะการออกกำลัง การวิ่งเป็นประจำ จะนำไปสู่การมีรูปลักษณ์ที่ดี หุ่นที่ดี แถมยังมีร่างกายที่แข็งแรง จึงทำให้ผู้ที่วิ่งรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น

  • การวิ่งช่วยปรับปรุงอารมณ์ได้

การวิ่ง นอกจากจะช่วยบรรเทาความเครียดแล้วในชีวิตประจำวันแล้ว การวิ่งหรือการจ๊อกกิ้ง ยังมีผลต่อความคิดและทัศนคติของเราอีกด้วย ในขณะที่วิ่งร่างกายจะหลั่งสารที่มีชื่อว่า “เอนดอร์ฟิน (Endorphin)’ ซึ่งเป็นสารที่จะหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกมีความสุข นอกจากนี้ยังมีหลักฐานยืนยันว่า การออกกำลังกายอย่างการวิ่งนั้น มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการทางอารมณ์และความวิตกกังวลได้

จากการศึกษาในปี 2556 พบว่า การออกกำลังกายในระดับปานกลางนั้น มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการซึมเศร้า ความตึงเครียด และความเหนื่อยล้าลง นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ป่วยได้เริ่มโปรแกรมการวิ่งก็ทำให้เขาเกิดความสับสนน้อยลง ดังนั้น บางคนจึงออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กับการการใช้ยารักษา เพื่อให้อาการดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า การวิ่งมีผลดีกับร่างกายและจิตใจมากขนาดนี้ หากจะเริ่มออกกำลังกายจริง ก็แนะนำให้วิ่งออกกำลังกายกัน แต่ออกกำลังกายอย่างพอดี จะได้ไม่เกิดการบาดเจ็บและพาลเกลียดการออกกำลังกายไปเสียก่อน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Mental Benefits of Jogging and Running. https://www.verywellfit.com/the-mental-benefits-of-jogging-2911666.  Accessed February 11, 2021

10 Mental Health Benefits of Running. https://www.podiumrunner.com/culture/10-mental-health-benefits-running/.  Accessed February 11, 2021

For Depression and Anxiety, Running Is a Unique Therapy. https://www.runnersworld.com/health-injuries/a18807336/running-anxiety-depression/.  Accessed February 11, 2021

The Truth Behind ‘Runner’s High’ and Other Mental Benefits of Running. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-truth-behindrunners-high-and-other-mental-benefits-of-running.  Accessed February 11, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2021

เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา