จากข่าวการกราดยิงโคราช เมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะสังเกตเห็นว่า มีข่าวการยิงในที่สาธารณะเกิดขึ้นติดต่อกันหลายครั้ง นับตั้งแต่การกราดยิงครั้งใหญ่นั้น จนอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ทำไมจึงมีการยิงกันในที่สาธารณะบ่อยขนาดนี้ และคอยติดตามข่าวกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แต่หลายคนอาจจะไม่ทันได้ตระหนักว่า พฤติกรรมเลียนแบบอาชญากรรม ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อาจมีผลมาจากอิทธิพลของสื่อก็เป็นได้
พฤติกรรมเลียนแบบอาชญากรรม เป็นอย่างไร
คำว่า พฤติกรรมเลียนแบบอาชญากรรม หรือ copycat crime หมายถึงลักษณะการก่ออาชญากรรม ที่เลียนแบบมาจากอาชญากรรมที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดยอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาค้นคว้า หรือการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน
ส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ประการ ของอาชญากรรมเลียนแบบ คือ
อาชญากรรมต้นแบบ (generator crime) หมายถึงอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริง เป็นตัวอาชญากรรมต้นแบบที่ทำให้เกิดการเลียนแบบขึ้น
อาชญากรต้นแบบ (criminogenic models) หมายถึงตัวผู้ก่อเหตุอาชญากรรมต้นแบบ ที่ผู้ก่อเหตุเลียนแบบเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
อาชญากรรมเลียนแบบ (copycat crime) หมายถึงอาชญากรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ โดยอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากการเสพข่าวสารมากเกินไป หรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาชญากรต้นแบบ
อาชญากรเลียนแบบ (copycat criminal) หมายถึงผู้ที่ก่อเหตุอาชญากรรม เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากสื่ออาชญากรรม อาชญากรต้นแบบ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
สื่อมีอิทธิพลอย่างไรกับการก่ออาชญากรรมเลียนแบบ
พฤติกรรมเลียนแบบนี้มีมาตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากการสำรวจความสัมพันธ์ของเหตุอาชญากรรมกับการรายงานข่าว โดยข่าวที่โด่งดังและเป็นที่ให้ความสนใจในช่วงนั้นคือคือ ข่าวคดีฆาตกรรมเลื่องชื่อของ “แจ็คเดอะริปเปอร์’ (Jack the Ripper) ที่เกิดขึ้นที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงระหว่างปี 1888 ถึง 1891 ซึ่งส่งผลให้เกิดการก่ออาชญากรรมเลียนแบบตามมาหลายคดี
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มักจะเป็นที่สนใจอย่างมากของผู้คน การนำเสนอข่าวจึงมักจะนำเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว เกาะติดกระชั้นชิด และให้รายละเอียดเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมนั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ชม
ผลการวิจัยได้พบว่า สื่อเป็นตัวการสำคัญ ในการส่งผลให้เกิดการก่ออาชญากรรมเลียนแบบ เนื่องจากสื่อนั้นจะเป็นตัวการในการนำเสนอ “อาชญากรต้นแบบ” ให้กับผู้รับสารได้ชม บ่อยครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ สิ่งที่สื่อชอบที่จะนำเสนอ คือรายละเอียดเกี่ยวกับตัวของอาชญากร ทั้งชื่อ รูปพรรณสัณฐาน อายุ แรงจูงใจในการก่อเหตุ และรายละเอียดเบื้องหลังอื่นๆ ทำให้พวกเขาได้รับความสนใจจากผู้รับสารเป็นอย่างมาก ยิ่งโดยเฉพาะหากอาชญากรเหล่านี้มีประเด็นปัญหาในอดีต เช่น ถูกข่มเหง ถูกเอาเปรียบ ผู้ชมที่ได้รับทราบเรื่องราวเหล่านี้จากการนำเสนอของสื่อ ก็จะเกิดอารมณ์ร่วม เกิดความเห็นใจ และอาจจะกลายเป็นการก่อคดีเลียนแบบได้
FBI ได้รายงานผลของการวิเคราะห์อิทธิพลของสื่อที่มีต่อการก่ออาชญากรรมเลียนแบบ พบว่า อาชญากรส่วนใหญ่นั้น มีความต้องการที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่จดจำ เลยพยายามเลียนแบบเหตุการณ์ร้ายที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาชญากรเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ต้นๆ ที่เสาะหาพลังและอำนาจ ที่พวกเขามองว่าเป็นของตน แต่ถูกปฏิเสธจากสังคม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาชญากรเหล่านี้มักจะมีลักษณะของผู้ที่ต่อต้านสังคม หรือผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาก่อน และต้องการที่จะแก้แค้น ประจวบเหมาะกับการที่สื่อมักจะนำเสนอข้อมูลของอาชญากรที่ก่อเหตุอย่างละเอียด ทำให้เป็นที่จดจำของสังคม พวกเขาจึงเลือกที่จะก่อเหตุเลียนแบบเหล่านี้ เพื่อให้เป็นที่จดจำ หรือเป็นกระบอกเสียง ให้คนหันมาสนใจในตัวของผู้ก่อเหตุมากยิ่งขึ้น
หนทางในการแก้ไขปัญหาจากอิทธิพลของสื่อ
การเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอข่าว อาจมีส่วนช่วยในการลดความรุนแรง และลดโอกาสการก่อเหตุอาชญากรรมเลียนแบบได้ สื่อควรมีความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวอาชญากรรมครั้งใหญ่อย่าง การกราดยิง และตระหนักถึงผลกระทบที่อาจตามมาจากการนำเสนอข่าวเหล่านี้
การนำเสนอให้เห็นถึงอดีต แรงจูงใจ และรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอาชญากร อาจกลายเป็นการเน้นย้ำ ให้เห็นถึงความสำคัญ และความพิเศษของอาชญากร ทำให้พวกเขาดูเหมือน ‘ฮีโร่’ แทนที่จะเป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น สื่อจึงควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าว และหลีกเลี่ยงประเด็นที่อาจจะหลายเป็นปัญหาได้ในภายหลัง
แนวทางในการนำเสนอข่าวเพื่อลดพฤติกรรมการเลียนแบบอาชญากรรม
- ลดการรายงานข่าวเกี่ยวกับตัวผู้กระทำผิด
- อย่าแสดงให้เห็นภาพของผู้กระทำผิดและภาพของเหยื่อ
- ลดการนำเสนอรูปภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้าย เช่น ภาพการกราดยิง
- อย่าสร้างความแตกตื่นแก่ผู้ชม หรือยกย่องเหตุการณ์ร้าย
- ระมัดระวังการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตและครอบครัว
- แสดงให้เห็นถึงการรับมือกับเหตุการณ์ร้าย และการฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบาก
- อย่าโทษผู้เคราะห์ร้าย (หากมีการเจาะจงผู้เคราะห์ร้าย) หรือชุมชนโดยรอบ
แม้ปัญหาการเลียนแบบการก่ออาชญากรรมเป็นผลมาจากการนำเสนอข่าวของสื่อก็ตาม แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว การเสพข่าวอย่างถูกต้อง และรู้เท่าทันสติตัวเองในขณะเสพข่าว รวมถึงเลือกรับข่าวสารจากสื่อที่มีจรรยาบรรณ ไม่เพียงแต่ต้องการนำเสนอข่าวเพียงเท่านั้น
ดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้อย่างไรเมื่อต้องเสพข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง
เพราะความเครียด ความวิตกกังวล และสภาวะทางอารมณ์เชิงลบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการเสพข่าวที่มีเนื้อหารุนแรง อาจนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง คนใกล้ชิดและคนในครอบครัวถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งคุณสามารถรับมือด้วยการปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ดูแลตัวเอง
เมื่อคุณดูแลตัวเองได้แล้ว จะสามารถดูแลเด็กๆ ได้ด้วย โดยทำตัวเป็นตัวอย่างให้เด็ก เช่น ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ เพื่อให้ในบ้านมีความรู้สึกปกติและปลอดภัย
- พูดคุยกับลูก
ในเรื่องต่างๆ แสดงให้เด็กเห็นว่าเราสนใจและใส่ใจในเรื่องที่เขากังวล หรืออย่างน้อยที่สุด ให้เขารู้ว่าเราเป็นผู้ฟังให้เขาได้ทุกเรื่อง
- หยุดรับข่าวสาร
ในบางครั้งเด็กๆ ก็ต้องการรับรู้ข่าวสารให้มากที่สุด ละเอียดที่สุดเท่าที่จะหาได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องจำกัดปริมาณของสื่อและข่าวสารที่เด็กๆ จะได้รับ เพื่อป้องกันความเครียด และความกังวลมากเกินไป
- ทำบ้านให้เป็นสถานที่ปลอดภัย
เด็กๆ ล้วนมองบ้านเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเขา ดังนั้นแล้วควรทำให้บ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับเด็ก และใช้เวลาร่วมกับเด็กๆ อย่างสม่ำเสมอ
- มองหาสัญญาณของความเครียด ความกลัว และความกังวล
การรับฟังข่าวสารและเหตุการณ์รุนแรงย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ ดังนั้นเราเองควรมองหาความผิดปกติของพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อจะหาทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
หากปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้เราสามารถรับมือและลดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมได้ ไม่มากก็น้อย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด