การตื่นมาทำงานในตอนเช้าว่ายากแล้ว แต่การทำให้ตัวเราเองไม่ง่วงหลังจากการกินข้าวนั้นยากยิ่งกว่า เป็นที่มาของคำว่า “หนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน’ จะแอบงีบในออฟฟิศก็คงทำไม่ได้ เพราะงานที่กองเป็นภูเขายังรออยู่เพียบ แถมอาจจะโดนเจ้านายต่อว่า ซ้ำ! ไปกว่านั้น ถ้าไม่ถูกตัดเงินเดือน ก็คงโดนไล่ออกแน่ๆ อาการที่เกิดกวนใจคุณนี้เรียกว่า ฟู้ดโคม่า วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมารู้จักกับอาการนี้กัน
อาการง่วงนอนหลังจากการรับประทานอาหาร (Food Coma) คือ
อาการง่วงนอนหลังกินอิ่ม ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ฟู้ดโคม่า (Food Coma) ในขณะที่เรารับประทานอาหารในแต่ละมื้อที่มักประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เมื่อผ่านระบบการย่อยอาหารแล้วร่างกายจะกลั่นกรองน้ำตาลหรือกลูโคส ที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดนำไปใช้เป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำ แต่ก็ยังมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งมาจากอาหารที่เราทานเข้าไปเช่นเดียวกัน เรียกว่า ทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งสารนี้จะเข้าสู่สมองและระบบประสาททำให้ลดความตึงเครียด และทำให้คุณเกิดอาการง่วงนอนได้
อิ่มจนรู้สึก ง่วงนอน เกิดจากสาเหตุอะไร?
อาการง่วงนอนที่เกิดขึ้นบ่อยกับชาวออฟฟิศ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดวิตกกังวล ไม่ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้คุณเกิดอาการง่วงนอนระหว่างวัน
- การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของ ทริปโตเฟน (Tryptophan)
พบมากในเนื้อสัตว์ และนมบางชนิดที่รับประทานกันในชีวิตประจำวันและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วย ทริปโตเฟน (Tryptophan) จะเข้าสู่สมองและเพิ่มระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ลดความภาวะทางอารมณ์ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการนอนหลับ
- การเปลี่ยนแปลงในกระแสเลือดไปยังสมอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบางคนกล่าวว่าอาการง่วงซึมเกิดจากการไหลเวียนของเลือดถูกส่งไปในการเลี้ยงสมองค่อนข้างน้อยทำให้คุณรู้สึกง่วง หรือเกิดอาการซึม และเหนื่อยล้าได้ง่าย
- การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงหรือแคลอรี่สูง
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงทำให้เกิดอาการง่วงนอนหลังอาหาร ในการศึกษาจากนักวิจัยนำผู้ทดสอบที่รับประทานอาหารไขมันสูง หรือมีแคลอรี่สูง พบว่าสมองได้ส่งสัญญาณที่ทำให้เกิดความรู้สึกหิวนั้นลดลง และเพิ่มอาการง่วงนอนเข้ามาแทน
วิธีเอาชนะอาการ ฟู้ดโคม่า ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน
- นอนหลับให้เพียงพอในเวลากลางคืน โดยพักผ่อน 7-8 ชั่วโมง ต่อคืน เพราะเป็นเวลาที่ไม่มากเกินและไม่น้อยเกินไปอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการนอนหลับที่ดี
- ใช้เวลาในการพักเที่ยงของคุณเดินออกกำลังกาย เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียน และสมองทำงานได้เต็มที่ รวมถึงยังสามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืนอีกด้วย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันเพื่อให้ร่างกายของคุณสดชื่น
- จัดการงานกองโตที่แสนน่าเบื่อบนโต๊ะทำงานของคุณในช่วงเช้า เพราะเป็นช่วงที่สมองของคุณกำลังตื่นตัว หากสะสมมาทำตอนช่วงบ่ายหรือหลังรับประทานอาหารมื้อกลางวันอาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อ เหนื่อย เพิ่มความล้า และกระตุ้นการง่วงนอนได้
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]