backup og meta

ซิงค์ (Zinc) แร่สังกะสี กับ ประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/05/2020

    ซิงค์ (Zinc) แร่สังกะสี กับ ประโยชน์สุขภาพที่คุณควรรู้

    หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ ซิงค์ (Zinc) แร่สังกะสี หนึ่งในแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับในเรื่องของการเจริญเติบโต แต่เราสามารถหาแร่สังกะสีนี้ได้จากที่ไหน และจะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายของเราขาด ซิงค์ หาคำตอบได้จากบทความนี้

    ซิงค์ สำคัญอย่างไรกับร่างกาย

    ซิงค์ หรือ แร่สังกะสี นั้นเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตขึ้นเอง หรือกักเก็บไว้ได้ แต่จะได้รับผ่านทางการรับประทานอาหารเท่านั้น

    ร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสี เพื่อใช้ในกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เช่น

    • การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกาย
    • ปฏิกิริยาของเอนไซม์
    • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
    • การสังเคราะห์โปรตีน
    • การสังเคราะห์ DNA
    • การฟื้นฟูบาดแผล
    • การแสดงออกของยีน (Gene expression)

    นอกจากนี้แร่สังกะสีนี้ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานของเอนไซม์กว่า 300 ชนิด ที่ช่วยในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร การทำงานของระบบประสาท ตลอดไปจนถึง การพัฒนาและการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซิงค์จึงจัดได้ว่าเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายมากเป็นอันดับ 2 รองจากธาตุเหล็ก

    ประโยชน์สุขภาพที่ได้จากสังกะสี

    ช่วยในเรื่องการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

    ซิงค์นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายของเราจำเป็นต้องใช้แร่สังกะสีในการทำงานของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T-cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยในการควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และจัดการกับเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเซลล์ผิดปกติ งานวิจัยหลายชิ้น ยังให้คำแนะนำว่า ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ควรบริโภคอาหารที่มีแร่สังกะสี เพื่อช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยป้องกันจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคปอดอักเสบ เป็นต้น

    ในขณะเดียวกันหากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การติดเชื้อ ได้ในที่สุด

    ลดอาการอักเสบ

    ซิงค์สามารถช่วยลดปริมาณของความเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (oxidative stress) และช่วยลดปริมาณของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการอักเสบได้ มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้สูงอายุที่รับประทานซิงค์วันละ 45 มก. ต่อวัน จะมีโอกาสในการเกิดอาการอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก

    ช่วยจัดการเรื่องสิว

    เนื่องจากปัญหาสิวส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการอักเสบ หรืออาจจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีงานวิจัยพบว่าการทายาหรือรับประทานยาที่มีส่วนผสมของซิงค์ สามารถช่วยรักษาอาการสิวได้ โดยการลดอาการอักเสบ และป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว ทั้งยังช่วยลดการทำงานของต่อมน้ำมัน จึงช่วยลดการสะสมและอุดตันของไขมันบนใบหน้า อันจะนำไปสู่การเกิดสิวได้อีกด้วย

    ฟื้นฟูบาดแผล

    ซิงค์มีส่วนสำคัญในการรักษาความสมบูรณ์และโครงสร้างของผิวหนัง ผู้ป่วยที่มีอาการบาดแผลเรื้อรัง มักจะมีปัญหาเรื่องการเผาผลาญแร่สังกะสีบกพร่อง และมีระดับของสังกะสีในเซรั่มต่ำ ดังนั้นทีมทาผิวหลายชนิด จึงมักจะนิยมเพิ่มซิงค์ลงไป เพื่อช่วยรักษาอาการทางผิวหนัง เช่น อาการระคายเคือง หรือผื่นผิวหนัง

    จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายเราขาดซิงค์

    แม้ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย แต่บางคนก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของภาวะขาดสังกะสี ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มียีนผิดปกติ ทารกที่ดื่มนมจากแม่ที่ได้รับแร่สังกะสีไม่พอ ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท คนเหล่านี้มักจะเกิดภาวะขาดสังกะสีได้

    อาการของภาวะขาดสังกะสีนั้น มีดังต่อไปนี้

  • การเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายผิดปกติ
  • เข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า
  • มีผื่นผิวหนัง
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • แผลหายช้า
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผมบางลง
  • ความอยากอาหารลดลง
  • ผิวแห้ง
  • มีปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์
  • อารมณ์แปรปรวน
  • อาหารที่เป็นแหล่งของ สังกะสี

    การที่ร่างกายของเราจะได้รับ แร่สังกะสี นั้นมาจากการรับประทานอาหาร แต่โชคดีที่อาหารที่ได้จากเนื้อสัตว์และพืชหลายชนิดมักจะอุดมไปด้วยแร่สังกะสี ทำให้ง่ายต่อบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

    อาหารที่เป็นแหล่งของซิงค์ มีดังต่อไปนี้

  • สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอบกาบ เป็นต้น
  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อแกะ เป็นต้น
  • ปลา เช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน เป็นต้น
  • ถั่ว เช่น ถั่วดำ ถั่วลูกไก่ (Chickpeas) ถั่วเขียว เป็นต้น
  • ธัญพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดแตงโม ข้าวโอ๊ต ควินัว เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส เป็นต้น
  • ไข่
  • ผักบางชนิด เช่น เห็ด ผักคะน้า หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 21/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา