backup og meta

โรคฝันร้าย ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะมันอาจส่งผลต่อสุขภาพ

โรคฝันร้าย ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะมันอาจส่งผลต่อสุขภาพ

โดยปกติแล้ว หากคุณนอนหลับไปพร้อมกับความวิตกกังวลหรือความเครียด ก็มักจะทำให้ ฝันร้าย เกิดขึ้นได้ในขณะที่นอนหลับ ความจริงแล้วฝันร้ายสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งอาจจะทำให้คุณตื่นขึ้นมาในตอนกลางคืน ซึ่งการตื่นกลางดึกนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก และการมี ฝันร้ายบ่อยๆ อาจพัฒนากลายเป็น โรคฝันร้าย ได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทาง Hello คุณหมอ จึงได้นำเรื่องนี้มาฝากกัน

ทำความรู้จักกับ โรคฝันร้าย

ฝันร้าย คือ ฝันที่เกิดจากความรู้สึกด้านลบต่าง ๆ เช่น ความวิตกกังวล หรือความกลัว เมื่อเกิดแล้วอาจทำให้คุณรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในขณะที่กำลังหลับลึกได้ ความจริงแล้วฝันร้ายเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น จึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล

ฝันร้ายอาจจะเริ่มเกิดในเด็กตั้งแต่ระหว่างอายุ 3-6 ปี และจะมีแนวโน้มที่จะลดลงหลังจากอายุ 10 ปี แต่ดูเหมือนว่าในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาวนั้น มักจะสามารถฝันร้ายได้บ่อยกว่าเด็ก ๆ ซึ่งบางคนอาจจะเกิดขึ้นแค่ช่วงเป็นผู้ใหญ่ แต่สำหรับบางคนอาจจะเกิดขึ้นตลอดชีวิตก็เป็นได้

แม้ว่าฝันร้ายจะเป็นเรื่องปกติ แต่โรคฝันร้ายนั้นถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการที่ฝันร้ายซ้ำ ๆ จนทำให้เกิดความทุกข์ รบกวนการนอนหลับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการทำงานในเวลากลางวัน หรือสร้างความกลัวก่อนที่จะเข้านอนได้ด้วย

เพราะสาเหตุใดถึงทำให้เกิดโรคฝันร้าย

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากฝันร้ายนั้น ทางการแพทย์มักจะเรียกว่าเป็นโรคนอนไม่หลับชนิดหนึ่ง เนื่องจากมันเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในขณะที่คุณหลับ ระหว่างการนอนหลับ หรือเมื่อคุณตื่นขึ้นมา โรคฝันร้ายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • ความเครียดหรือความวิตกกังวล บางครั้งความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาที่บ้านหรือที่โรงเรียน ก็อาจทำให้เกิดฝันร้ายได้ นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เช่น การตายของคนที่คุณรัก ก็มีผลเช่นเดียวกัน ความวิตกกังวลนั้นเกี่ยวข้องกับการเกิดฝันร้ายเป็นอย่างมาก
  • การบาดเจ็บ เป็นปกติที่หลังจากประสบอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การถูกล่วงละเมิดทางร่างกาย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเหตุการณืที่กระทบกระเทือนจิตใจอื่น ๆ สามารถทำให้เกิดฝันร้ายขึ้นได้ เนื่องจากผู้ที่ประสบปัญหาต่างๆ เหล่านี้ มักจะเป็นผู้ที่มีโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ PTSD) เกิดขึ้น
  • การอดนอน การเปลี่ยนแปลงตารางเวลานอนของคุณ มักจะทำให้เวลานอนหลับและเวลาตื่นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเวลาการนอนอาจทำให้จังหวะของการนอนเปลี่ยนไป หรือส่งให้นอนหลับได้น้อยลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดฝันร้ายได้
  • ยา การใช้ยาบางชนิด รวมถึงยากล่อมประสาท ยารักษาความดันโลหิต ยาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน หรือยาที่ช่วยทำให้หยุดสูบบุหรี่ สามารถทำให้เกิดฝันร้ายได้
  • สารเสพติด รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็อาจทำให้เกิดฝันร้ายได้เช่นเดียวกัน
  • ความผิดปกติอื่น ๆ ภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ อาจเชื่อมโยงกับฝันร้ายได้ นอกจากนั้นฝันร้ายยังสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกับสภาพทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมไปถึงการนอนหลับที่ผิดปกติอื่น ๆ
  • หนังสือและภาพยนตร์ที่น่ากลัว สำหรับบางคนการอ่านหนังสือที่น่ากลัว หรือดูภาพยนตร์สยองขวัญก่อนนอน ก็อาจทำให้เกิดฝันร้ายได้

อาการที่อาจเกิดขึ้นจากโรคฝันร้าย

แม้ฝันร้ายอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นหลายครั้งหลายหนในคืนเดียว ปกติแล้วฝันร้ายมักจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่มันก็สามารถทำให้คุณตื่นนอนในกลางดึก และอาจทำให้การกลับไปนอนหลับอีกครั้งเป็นเรื่องที่ยาก สำหรับโรคฝันร้ายนั้น อาจทำให้เกิดสิ่งที่เหล่านี้ตามมาได้

  • บางครั้งฝันของคุณอาจจะดูเสมือนจริง และอาจทำให้คุณไม่พอใจได้ ซึ่งเป็นการรบกวนการนอนหลับอยู่เสมอ
  • เรื่องราวในฝัน มักจะเกี่ยวข้องกับภัยที่คุกคามต่อความปลอดภัย การเอาชีวิตรอด และอื่น ๆ
  • ความฝันมักจะทำให้คุณตื่น
  • ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว วิตกกังวล โกรธ เศร้า หรือเบื่อหน่าย
  • เหงื่อออก หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติขณะนอนหลับ
  • จำรายละเอียดของฝันได้ และยังสามารถคิดถึงมันเมื่อตื่นขึ้นมา
  • ทำให้เกิดความทุกข์จนไม่สามารถนอนหลับได้
  • เกิดความทุกข์ทรมานหรือความบกพร่องในระหว่างวัน เช่น วิตกกังวลจนกลายมาเป็นความกลัวแบบถาวร วิตกกังวลก่อนนอน เพราะกลัวจะฝันร้ายอีก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ความจำ หรือไม่สามารถหยุดคิดเกี่ยวกับภาพที่เกิดขึ้นในความฝันได้
  • ง่วงนอนตอนกลางวัน อ่อนเพลีย หรือพลังงานลดต่ำลง
  • มีปัญหาในการทำงาน มีปัญหาที่โรงเรียน หรือในสถานการณ์ทางสังคมอื่น ๆ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมในการนอน หรือกลัวความมืด
  • หากเด็กมีอาการของโรคฝันร้าย อาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของผู้ปกครอง

อยากตื่นจากโรคฝันร้ายควรรักษาอย่างไรดี

หากรู้สึกว่าโรคฝันร้ายกำลังทำให้ชีวิตคุณไม่ปกติ หรือเกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรจะเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งวิธีการรักษา มีดังนี้

  • การเข้ารับคำปรึกษา นักบำบัดโรคสามารถช่วยคุณระบุสาเหตุที่แท้จริงของฝันร้ายได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นจะต้องมีการประมวลผลความคิดและความรู้สึกของคุณ บางครั้งจึงอาจจะต้องเข้ารับคำปรึกษาอย่างเข้มข้น หากฝันร้ายนั้นเกิดจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
  • การลดความวิตกกังวลอย่างเป็นระบบ (Systematic Desensitization) วิธีการรักษานี้จะเกี่ยวข้องกับการเปิดรับเนื้อหาความฝัน ไม่ว่าจะเป็นความน่ารำคาญ หรือความกลัวที่เกิดขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสอนการตอบสนองทางอารมณ์ของคุณ ซึ่งวิธีการรักษาด้วยวิธีนี้จะมีประโยชน์มากที่สุด เมื่อเกิดฝันร้ายขึ้นมาอีกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • การจัดการกับความเครียด การจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณ สามรถช่วยให้คุณสามารถจัดการกับฝันร้ายได้ ซึ่งอาจรวมไปถึงการฝึกการผ่อนคลาย เพื่อช่วยให้คุณสามารถลดความวิตกกังวลหรือความเครียดที่ทำให้คุณไม่สามารถนอนหลับได้ ซึ่งวิธีการนี้อาจจะทำให้คุณสามารถหลับได้ดีขึ้นหลังจากที่ตื่นจากฝันร้าย

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Nightmare disorder. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nightmare-disorder/symptoms-causes/syc-20353515. Accessed April 09, 2020

Nightmares in Adults. https://www.webmd.com/sleep-disorders/nightmares-in-adults#1. Accessed April 09, 2020

Nightmares – Treatments. http://sleepeducation.org/sleep-disorders-by-category/parasomnias/nightmares/treatment. Accessed April 09, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกฝันร้าย คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร

ฝันร้าย คืออะไรและมันกำลังบอกอะไรกับเราบ้าง?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา