backup og meta

กะหล่ำปลี ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

กะหล่ำปลี ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน

กะหล่ำปลี เป็นพืชล้มลุกที่มีหลากหลายสายพันธุ์ มีใบสีเขียวหรือสีม่วง และมีแกนกลางเป็นสีขาว กะหล่ำปลีเป็นผักที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเค วิตามินซี แมกนีเซียม โฟเลต ที่อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ป้องกันการอักเสบ ป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคมะเร็ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของกะหล่ำปลี

จากฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริการะบุว่ากะหล่ำปลี 75 กรัม มีพลังงาน 17 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม (รวมน้ำตาล 2 กรัมและไฟเบอร์ 1 กรัม)
  • โปรตีน 1 กรัม
  • วิตามินซี 27 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค 81.5 ไมโครกรัม
  • แมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม
  • โฟเลต 22 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ กะหล่ำปลียังมีวิตามินบี 6 วิตามินบี 1 แคลเซียม โพแทสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ลูทีน (Lutein) ซีแซนทีน (Zeaxanthin) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) แคมป์เฟอรอล (Kaempferol) เคอร์ซิติน (Quercetin) อะพิจีนีน (Apigenin) และโพรไบโอติก (Probiotics) ที่อาจช่วยต้านการอักเสบและช่วยป้องกันความเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายเนื่องจากสารอนุมูลอิสระ

ประโยชน์ของกะหล่ำปลี

กะหล่ำปลีมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของกะหล่ำปลีในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยป้องกันไข้หวัด

กะหล่ำปลีมีวิตามินซีสูง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้  จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal Lifestyle Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่า การบริโภควิตามินซีในปริมาณ 0.2 กรัม/วัน หรือสูงกว่า อาจช่วยลดความรุนแรงของไข้หวัดได้ เพราะวิตามินซีอาจเข้าไปกระตุ้นการทำงานของฟาโกไซต์ (Phagocytes) ที่ทำหน้าที่ผลิตแอนติบอดีและกำจัดเชื้อโรค การรับประทานกะหล่ำปลีที่อุดมไปด้วยวิตามินซีจึงอาจสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคที่อาจนำไปสู่โรคไข้หวัด หรือส่งผลให้อาการไข้หวัดที่เป็นอยู่ทุเลาลง และช่วยลดระยะเวลาการเจ็บป่วยให้หายเป็นปกติภายในไม่กี่วัน

  • ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

กะหล่ำปลีมีฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยป้องกันการอักเสบจากอนุมูลอิสระ การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร MDPI เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่า ฟลาโวนอยด์อาจช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) จากอนุมูลอิสระที่อาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งยังช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

  • ปรับปรุงการทำงานของลำไส้

กะหล่ำปลีในรูปแบบหมักและดอง อาจมีโพรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร ช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น ป้องกันอาการท้องผูก และช่วยให้ขับถ่ายสะดวก จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ได้ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอายุ 20-80 ปี ที่มีอาการท้องผูก โดยถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติก 3 ชนิด 2.กลุ่มที่ได้รับโพรไบโอติก 8 ชนิด 3.กลุ่มที่ได้รับยาหลอกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า โพรไบโอติกอาจช่วยทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนแปลง มีการขับถ่ายที่ดีขึ้น

  • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

ผักในตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า บร็อคโคลี่ และกะหล่ำปลี มีสารพฤกษเคมีที่เรียกกว่าสารซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Oral and Maxillofacial Pathology ปี พ.ศ. 2563 พบว่าสารซัลโฟราเฟนในผักใบเขียว อาจช่วยป้องกันการอักเสบ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย และช่วยลดความไวต่อสารก่อมะเร็ง ที่อาจนำไปสู่การเกิดเนื้องอกและโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งช่องปาก อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจนมากขึ้น

ข้อควรระวังในการรับประทานกะหล่ำปลี

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ต่อผักในวงศ์ผักกาดและกะหล่ำ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีเนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ อาเจียน ผื่นขึ้น ใบหน้าและลิ้นบวมได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและผู้ที่มีการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกะหล่ำปลีด้วยเช่นกัน เพราะกะหล่ำปลีอาจส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลง เนื่องจากกะหล่ำปลี โดยเฉพาะกะหล่ำปลีดิบ อาจมีสารยับยั้งที่ไปขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์

นอกจากนี้ เนื่องจากกะหล่ำปลีมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หากรับประทานในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไประหว่างผ่าตัด ที่อาจนำไปสู่อาการชักหมดสติ ดังนั้นจึงควรหยุดรับประทานกะหล่ำปลีอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนการผ่าตัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cabbage – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-171/cabbage. Accessed April 20, 2022   

Benefits of Cabbage. https://www.webmd.com/food-recipes/ss/slideshow-cabbage-benefits. Accessed April 20, 2022  

The Effects of Flavonoids in Cardiovascular Diseases. https://www.mdpi.com/1420-3049/25/18/4320/htm. Accessed April 20, 2022  

The effect of probiotics on functional constipation in adults. https://journals.lww.com/md-journal/Fulltext/2021/03120/The_effect_of_probiotics_on_functional.48.aspx. Accessed April 20, 2022  

Sulforaphane in broccoli: The green chemoprevention!! Role in cancer prevention and therapy.  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7802872/. Accessed April 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/04/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่กินผักและผลไม้ รู้ไหมอันตรายต่อสุขภาพมากแค่ไหน

ผัก ผลไม้ไม่มีแป้ง ที่เหมาะสมสำหรับการควบคุมน้ำหนัก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 21/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา