backup og meta

วิตามินเสริม ควรกินหรือไม่ และควรกินอย่างไรให้ได้ประโยชน์

วิตามินเสริม ควรกินหรือไม่ และควรกินอย่างไรให้ได้ประโยชน์

วิตามินเสริม เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกินเสริมจากอาหารมื้อหลัก เพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า วิตามินเสริม ควรกินหรือไม่ ทั้งนี้ การกินวิตามินเสริมอาจเหมาะสำหรับผู้ที่กินอาหารไม่ตรงเวลา กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ เพราะอาจช่วยปกป้องและส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

[embed-health-tool-bmr]

วิตามินเสริม ควรกินหรือไม่

ผู้ที่กินอาหารครบ 5 หมู่ เลือกกินผักและผลไม้ที่หลากหลาย นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี อาจไม่จำเป็นต้องกินวิตามินเสริม เนื่องจากร่างกายอาจได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากการกินอาหารในแต่ละวันอยู่แล้ว

แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากขึ้น การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายอาจมีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะในผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น นอนดึก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก สูบบุหรี่ กินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษมาก สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สุขภาพร่างกายอ่อนแอง่ายขึ้น การกินวิตามินเสริมจึงอาจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดี กินผักผลไม้ที่หลากหลาย แต่ร่างกายอาจไม่ได้รับวิตามินจากผักผลไม้ชนิดนั้น ๆ อย่างเหมาะสม เนื่องจากการล้างทำความสะอาด การปอกเปลือก หรือการนำไปผ่านความร้อนที่อาจทำให้สูญเสียสารอาหารที่มีประโยชน์ไป จึงอาจจำเป็นต้องกินวิตามินเสริมเช่นกัน เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่ครบถ้วนและเหมาะสมในแต่ละวัน

วิตามินเสริม ควรกินอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย

การกินวิตามินเสริมเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย ควรเริ่มจากการเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อให้ทราบว่าร่างกายขาดวิตามินหรือแร่ธาตุชนิดใด จะได้กินวิตามินเสริมให้ตรงตามกับที่ร่างกายขาด นอกจากนี้ คุณหมอยังสามารถช่วยแนะนำวิตามินที่ร่างกายของแต่ละบุคคลควรได้รับ ปริมาณในการกิน ควรกินมื้อไหนจึงจะเหมาะสม และต้องกินวิตามินคู่กับอะไรเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ธาตุเหล็กควรกินคู่กับวิตามินซีเพื่อช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียมควรกินคู่กับวิตามินดีเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้น และควรกินวิตามินเค 2 ร่วมด้วย เพื่อช่วยขับแคลเซียมส่วนเกินออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม การกินวิตามินเสริมมากเกินกว่าปริมาณที่แนะนำต่อวันก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้  เช่น กินวิตามินซีมากเกินไปอาจทำให้ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กินวิตามินดีมากเกินไปอาจทำให้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ง่วงซึม ปวดหัว เบื่ออาหาร ปากแห้ง

ปริมาณวิตามินแต่ละชนิดที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

วิตามินที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับมีด้วยกัน 13 ชนิด และควรได้รับในปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • วิตามินซี ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก ส่งเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยสร้างคอลลาเจน ควรได้รับไม่เกิน 2,000 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี 1 ช่วยบำรุงระบบประสาท เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและป้องกันเหน็บชา ควรได้รับไม่เกิน 25 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินบี 2 ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและบำรุงสุขภาพผิว ควรได้รับไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินบี 3 ช่วยบำรุงระบบประสาทและผิวหนัง ควรได้รับไม่เกิน 35 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินบี 5 ป้องกันและลดอาการภูมิแพ้ หอบหืด ควรได้รับไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี 6 ช่วยบำรุงระบบประสาทและคลายเครียด ควรได้รับไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินบี 7 ช่วยเผาผลาญโปรตีนและไขมัน ควรได้รับไม่เกิน 300 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี 9 ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง บำรุงระบบประสาทและความจำ ควรได้รับไม่เกิน 1,000 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดและบำรุงระบบประสาท ควรได้รับไม่เกิน 2.4 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ผมและเล็บ ควรได้รับไม่เกิน 3,000 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียม บำรุงกระดูกและฟัน ควรได้รับไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินเค ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ควรได้รับไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/วัน
  • วิตามินอี ช่วยในการไหลเวียนของเลือดและต้านสารอนุมูลอิสระ ควรได้รับไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamins and Minerals for Older Adults. https://www.nia.nih.gov/health/vitamins-and-minerals-older-adults#:~:text=Vitamins%20help%20your%20body%20grow,B12%2C%20and%20folate. Accessed October 6, 2022

Vitamins and Minerals. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamins/. Accessed October 6, 2022

B Vitamins. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamins/vitamin-b/. Accessed October 6, 2022

Vitamin A. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-a/. Accessed October 6, 2022

Vitamin C. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-c/. Accessed October 6, 2022

Vitamin D. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-d/. Accessed October 6, 2022

Vitamin E. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-e/. Accessed October 6, 2022

Vitamin K. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-k/. Accessed October 6, 2022

“ทานวิตามินเสริม” ให้ถูกวิธี ลดผลข้างเคียงต่อร่างกาย. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1-%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81/. Accessed October 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

10 อาหารที่มีวิตามินบีสูง มีอะไรบ้าง

ประโยชน์ของวิตามิน มีอะไรบ้าง ช่วยส่งเสริมสุขภาพอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา