โกโก้ หรือเมล็ดโกโก้ เป็นพืชยอดนิยมที่นำมาใช้ทำขนมและเครื่องดื่มหลากหลายเมนู โดยเฉพาะเป็นส่วนประกอบหลักในการทำช็อกโกแลต มีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุหลายชนิด เช่น เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม (Selenium) ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ ทั้งอาจมีส่วนช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท ปรับปรุงอารมณ์ ช่วยควบคุมน้ำหนัก และอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคเบาหวานได้อีกด้วย
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของโกโก้
คุณค่าทางโภชนาการของโกโก้ปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย
- พลังงาน 49 กิโลแคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม
- ไฟเบอร์ 7 กรัม
- โปรตีน 4 กรัม
- ไขมัน 3 กรัม
นอกจากนี้ โกโก้ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม แมกนีเซียม
ประโยชน์ของโกโก้ต่อสุขภาพ
โกโก้มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของโกโก้ต่อการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้
ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง
สารฟลาโวนอล (Flavanols) พบมากในโกโก้ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในหลายด้าน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมองและบำรุงระบบประสาท การบริโภคโกโก้จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Clinical Pharmacology ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของฟลาโวนอลในโกโก้ต่อการปกป้องระบบประสาท และผลกระทบต่อความสามารถด้านการเรียนรู้ พบว่า ผงโกโก้และช็อกโกแลตอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์อย่างอีพิคาเทชิน (Epicatechin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง กระตุ้นการสร้างเส้นเลือดใหม่ และการสร้างเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ และอาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมองได้
อาจช่วยปรับปรุงอารมณ์
สารฟลาโวนอลที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในโกโก้ที่อาจมีส่วนช่วยปกป้องระบบประสาท เพิ่มการไหลเวียนของเลือด การสร้างเส้นเลือดใหม่ในสมองและระบบประสาทสัมผัส ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาทการรับรู้ พฤติกรรม และอารมณ์ นอกจากนี้ โกโก้ยังมีคาเฟอีนอาจช่วยเพิ่มความตื่นตัวและช่วยปรับปรุงอารมณ์และพฤติกรรมได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neuroscience & Biobehavioral Reviews ปี พ.ศ. 2556 ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของช็อกโกแลตกับสมอง และผลกระทบทางระบบประสาทของสารฟลาโวนอลในโกโก้ต่อความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรม พบว่า สารฟลาโวนอลอาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือด สร้างเส้นเลือดใหม่ในสมอง ซึ่งช่วยปกป้องระบบประสาท ช่วยควบคุมระบบประสาทที่ส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาท การทำงานของเซลล์ประสาทและการเชื่อมต่อของสมอง การรับประทานสารฟลาโวนอลในระยะยาวอาจส่งผลดีต่อประสาทการรับรู้และพฤติกรรม
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Psychopharmacology ปี พ.ศ. 2556 ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของธีโอโบรมีนและคาเฟอีนต่ออารมณ์ พบว่า การรับประทานคาเฟอีน 100 มิลลิกรัม อาจช่วยลดอาการง่วง เมื่อยล้า และเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งอาจมีบทบาททางอารมณ์ทำให้รู้สึกตื่นตัวและสดชื้นมากขึ้น
อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคเบาหวาน
โกโก้อุดมไปด้วยโพลีฟีนอล (Polyphenol) โดยเฉพาะฟลาโวนอลที่อาจช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลินและความไวต่ออินซูลิน ซึ่งอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดการอักเสบ และลดความดันโลหิต ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research ปี พ.ศ. 2557 ทำการศึกษาเกี่ยวกับดาร์กช็อกโกแลตและโรคอ้วน พบว่า ดาร์กช็อกโกแลตอุดมไปด้วยโพลีฟีนอลซึ่งเป็นกลุ่มของสารพฤกษเคมีหรือสารที่ได้จากพืชซึ่งอาจมีบทบาทลดการทำงานของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมัน ลดการย่อยและการดูดซึมไขมันและคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่กระแสเลือด เพิ่มความรู้สึกอิ่มนานขึ้น การบริโภคโกโก้จึงอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจ
นอกจากนั้น งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสารต้านอนุมูลอิสระในโกโก้ต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่า โกโก้อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์ที่ช่วยเพิ่มการหลั่งอินซูลิน ปรับปรุงความไวต่ออินซูลินในเนื้อเยื่อ ช่วยลดไขมันและป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้
รวมทั้งงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry ปี พ.ศ. 2558 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของโกโก้ ความดันโลหิต และสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด พบว่า โกโก้มีปริมาณโพลีฟีนอลสูงโดยเฉพาะฟลาโวนอลที่ส่งผลดีต่อการขยายหลอดเลือด ลดการรวมตัวของเกล็ดเลือด ความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ลดการย่อยสลายไขมันและเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ซึ่งอาจช่วยลดระดับความดันโลหิต และอาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก
โกโก้มีน้ำตาลและไขมันต่ำ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอลและฟลาโวนอล ที่อาจช่วยควบคุมความอยากอาหาร ควบคุมการใช้พลังงานในร่างกายโดยย่อยและดูดซึมอาหารไปใช้ในร่างกายช้าลง ลดการอักเสบ เพิ่มการย่อยสลายไขมันจึงส่งผลดีต่อการควบคุมน้ำหนัก
งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research ปี พ.ศ. 2557 ทำการวิจัยเกี่ยวกับดาร์กช็อกโกแลตช่วยจัดการโรคอ้วน พบว่า โพลีฟีนอลที่พบได้ในดาร์กช็อกโกแลตอาจช่วยในการจัดการโรคอ้วนได้ โดยช่วยลดการดูดซึมไขมันหรือการสังเคราะห์ไขมัน อีกทั้งยังช่วยลดการเผาผลาญและการดูดซึมไขมันและคาร์โบไฮเดรต และช่วยให้อิ่มได้นานขึ้น
ข้อควรระวังในการบริโภคโกโก้
หากบริโภคโกโก้มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้
- โกโก้เป็นพืชที่ไม่มีน้ำตาลและมีไขมันต่ำ แต่การผลิตช็อกโกแลตส่วนใหญ่จะเติมน้ำตาลและไขมันเพื่อปรับให้รสชาติอร่อยและรับประทานง่ายขึ้น หรืออาจลดปริมาณของโกโก้ลงจนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร การรับประทานช็อกโกแลตมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้ จึงควรเลือกรับประทานช็อกโกแลตที่มีส่วนผสมของโกโก้อย่างน้อย 60-70% และมีน้ำตาลน้อย เพื่อให้ได้สารอาหารและประโยชน์จากโกโก้สูงสุด
- โกโก้มีส่วนผสมของคาเฟอีน หากรับประทานในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หงุดหงิด ปัสสาวะเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ หัวใจเต้นเร็ว นอกจากนี้ หากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคกระดูกพรุน ปวดหัวไมเกรน ลำไส้แปรปรวน ความดันโลหิตสูง ท้องร่วง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- บางคนอาจมีอาการแพ้โกโก้ หากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโกโก้จึงอาจเกิดผื่นแดง อาการคัน อาการปวดหัวไมเกรน คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม สาเหตุของอาการแพ้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้เกิดจากโกโก้โดยตรง แต่อาจเกิดจากส่วนผสมอื่นที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ในการทำช็อกโกแลต เช่น ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง นม คาเฟอีน โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The BMJ ปี พ.ศ. 2556 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการแพ้ช็อกโกแลตแท้และโกโก้ พบว่า อาการแพ้โกโก้อาจเกิดขึ้นได้น้อย อาการแพ้มักเกิดจากการทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ ที่มักมากับช็อกโกแลตและโกโก้ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง และนม นอกจากนี้ สารประกอบในโกโก้อย่างธีโอโบรมีน (Theobromine) และคาเฟอีนก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน