backup og meta

สูตรบัวลอยน้ำขิง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 30/07/2020

    สูตรบัวลอยน้ำขิง

    ขิงเป็นสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อน และมีกลิ่นเฉพาะตัว ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นขิงเป็นวัตถุดิบในอาหารคาว แต่ก็ใช่ว่าว่าขิงจะไม่สามารถทำของหวานได้ เมนู บัวลอยน้ำขิง เป็นเมนูของหวานอีกเมนูที่ทำจากขิง ที่นำไปต้มผสมน้ำตาลทราย เป็นเมนูของว่างที่ช่วยบำรุงสุขภาพได้เป็นอย่างดี ยิ่งในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง จนทำให้หลายคนฝืดจมูก ไอ หากได้ซดน้ำขิงร้อน พร้อมกับบัวลอยแป้งนุ่ม ๆ ใส่งาดำก็คงจะช่วยให้สดชื่น หายใจโล่งจมูก โล่งคอขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ มี สูตรบัวลอยน้ำขิง เมนูของว่างดีต่อสุขภาพมาฝากทุกคนค่ะ

    สูตรบัวลอยน้ำขิง

    บัวลอยน้ำขิง เป็นเมนูของว่างที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากจีน ตามประวัติศาสตร์แล้วประเทศจีนนิยมรับประทานบัวลอยในเทศกาล 元宵 (yuán xiā) ซึ่งเป็นเทศกาลโคมไฟ มักจะจัดขึ้นหลังตรุษจีนโดยจะตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือนแรกของปฏิทินจันทรคติ ในเทศกาลโคมไฟนี้จะมีการประดับประดาบ้านเรือนด้วยโคมไฟ ให้มีความสว่างไสวเพื่อขอบคุณเทพเจ้า

    ในวันเทศกาลก็จะมีการรับประทานขนมที่มีชื่อว่า 汤圆 (tāng yuán) หรือออกเสียงว่าทังหยวน เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลม ๆ มีไส้ต่าง ๆ ทั้งคาวและหวาน ไม่ว่าจะเป็น งาดำ ถั่วแดง ชาวจีนมีความเชื่อว่าการรับประทานขนมทังหยวนในเทศกาลโคมไฟนั้นจะนำมาซึ่งความสุข ความกลมเกลียว ในเวลาต่อมาอาจมีการดัดแปลงโดยการรับประทานกับน้ำขิง

    ส่วนผสมแป้งบัวลอย

    แป้งข้าวเหนียว 2/3 ถ้วยตวง
    น้ำเปล่า 1/4 ถ้วยตวง

    วิธีทำ

    1. นำน้ำเปล่าผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดจนแป้งเนื้อเนียน และสามารถปั้นเป็นก้อนกลมได้
    2. ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กขนาดพอคำ เมื่อปั้นเสร็จคลุมไว้ ด้วยผ้าขาวบาง

    ส่วนผสมไส้บัวลอย

    งาดำคั่วโขลกละเอียด 2 ถ้วยตวง
    น้ำตาลทราย 3/4 ถ้วยตวง
    กะทิคั้นข้น ๆ 1/2 ถ้วยตวง

    วิธีทำ

    1. นำงาดำโขลกละเอียด น้ำตาลทราย กะทิ ผสมรวมกัน นำไปตั้งไฟอ่อน ๆ กวนจนงาดำไม่ติดกระทะ ทิ้งไว้พออุ่น ปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าแป้งข้าวเหนียวเพื่อทำเป้นไส้ จากนั้นนำเข้าตู้เย็น แช่ให้แข็งตัว
    2. นำแป้งข้าวเหนียวที่ปั้นเป็นก้อนกลมไว้ มาแผ่ออกให้ใหญ่จนพอใส่ไส้งาดำได้ ปิดให้มิด
    3. นำบัวลอยที่ใส่ไส้ปั้นจนเรียบร้อยไปต้ม พอสุกให้ตักขึ้นแช่ไว้ในน้ำเย็น ก่อนจะรับประทาน สะเด็ดน้ำบัวลอยก่อนใส่ถ้วยแล้วตักบัวลอยใส่ถ้วย ตักน้ำขิงใส่รับประทานคู่กัน

    ส่วนผสมน้ำขิง

    ขิงแก่ทุบพอแตกหรือหั่นเป็นแว่น 200 กรัม
    น้ำเปล่า 7 ถ้วยตวง
    น้ำตาลทรายขาว 1/2 ถ้วยตวง
    น้ำตาลทรายแดง 3/4 ถ้วยตวง

    วิธีการทำน้ำขิง

    1. ผสมขิงกับน้ำเปล่า นำขึ้นตั้งไฟ
    2. พอเดือดใส่น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายแดง ลงไปเคี่ยวจนน้ำขิงออกมา ชิมรสตามชอบ หากใครหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลจะลดปริมาณน้ำตาลลงแล้วใส่น้ำผึ้งเพิ่มความหวานแทนก็สามารถทำได้นะคะ

    ขิง

    ประโยชน์ของการบริโภค ขิง

    ขิงเป็นอีกหนึ่งเครื่องเทศที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองมากมาย ดังนี้

    ช่วยลดอาการหวัด

    หลายๆ คนมักใช้ขิงสำหรับบรรเทาอาการไข้หวัด แม้จะยังมีงานวิจัยเพียงน้อยนิดถึงเรื่องนี้ แต่จากการวิจัยที่ใช้ขิงสดและขิงแห้งต่อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ พบว่าการใช้ขิงสดมีส่วนช่วยป้องกันระบบทางเดินหายใจได้

    ช่วยลดการอักเสบ

    นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ทำการสรุปว่า การรับประทานขิงนั้นมีส่วนช่วยรักษาอาการอักเสบที่เกิดจากโรคข้อเสื่อมแต่ว่าการศึกษาเรื่องนี้ยังมีข้อมูลที่จำกัด ไม่มากเพียงพอ จึงมีความจำเป้นที่จะต้องมีการศึกษาเรื่องนี้ให้มากกว่านี้

    ลดก๊าซในกระเพาะอาหารและช่วยเรื่องระบบการย่อย

    จากงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าเอนไซม์ที่มีในขิงนั้นมีส่วนช่วยในการไล่ก๊าซในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ขิงยังมีประโยชน์ต่อเอนไซม์ทริพซิน (Trypsin) และ เอนไซม์ลิเพสที่หลั่งออกมาจากตับอ่อน (pancreatic lipase) สำหรับการย่อยอาหาร และยังช่วยลดอาการท้องผูก

    บรรเทาอาการคลื่นไส้

    จากงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าขิงนั้นมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการแพ้ท้องและช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้หลังจากการรักษาโรคมะเร็ง จากการศึกษาชิ้นเล็ก ๆ ในปี 2010 พบว่าเด็กและผู้ใหญ่ที่ทำเคมีบำบัด พบว่ามีอาการคลื่นไส้ที่น้อยลง นอกจากนี้ในปี 2011 ยังมีการสรุปการศึกษาว่าการได้รับสารสกัดจากขิง 1,500 มิลลิกรัมช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมมากว่านี้ เพื่อผลที่แม่นยำ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 30/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา