การอยู่ไฟแบบดั้งเดิมเป็นอย่างไร
วิธีการอยู่ไฟในสมัยโบราณ ผู้ที่เป็นญาติและสามีจะให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร อยู่ไฟในกระท่อมมุงจาก เรียกว่า เรือนไฟ เพราะแคบ และมีอุณหภูมิอุ่น ไปจนถึงค่อนข้างร้อน ที่เกิดจากการก่อไฟ ภายในเรือนมีกระดานที่ทำจากแคร่ หรือเรียกว่า กระดานไฟ ตั้งไว้ระดับเดียวกับพื้น โดยให้คุณแม่มือใหม่นอนบนแคร่ ในท่าตะแคงที่เรียกว่า เข้าตะเกียบ เพื่อให้แผลฝีเย็บติดกัน และก่อกองไฟอยู่ข้างๆ มีคนคอยดูแลควบคุมความร้อนด้วยการพรม หรือราดน้ำลงบนเตาไฟเมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป ซึ่งผู้ที่เพิ่งคลอดบุตรจะต้องอยู่เรือนไฟเป็นเวลา 7-15 วัน ห้ามออกไปข้างนอกเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลไม่ทันส่งผลให้เจ็บป่วยได้ หากอยู่ไฟครบตามเวลาจะทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย
วิธีการอยู่ไฟในปัจจุบัน
จากวิธีการอยู่ไฟที่กล่าวมาข้างต้นแม้ลำบาก และไม่สามารถทำได้ในปัจจุบันเนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะปัจจุบันมีการประยุกต์วิธีการอยู่ไฟ ที่คงภูมิปัญญาเดิมคือการใช้ความร้อน ให้เข้ากับยุคสมัยหลากหลายวิธี ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอวิธีการอยู่ไฟแบบประยุกต์ ที่สามารถทำได้ง่ายที่สุด และสามารถทำได้จริง 5 วิธีดังนี้
- การใช้กระเป๋าน้ำร้อน โดยนำกระเป๋าน้ำร้อนมาวางบริเวณหน้าท้อง แทนการอบด้วยการอยู่ไฟข้างในเรือนไฟ แบบสมัยโบราณ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด เพราะสามารถพกพากระเป๋าน้ำร้อน ไปประคบได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ควรระวังไม่ให้กระเป๋าร้อนเกินไป
- การดื่มน้ำอุ่น การอาบน้ำอุ่น และ รับประทานสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่นขิง วิธีนี้ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายอบอุ่น ทั้งภายนอกและภายใน สามารถทำได้ง่ายมากและสะดวกเช่นกัน หากใช้กระเป๋าน้ำร้อนในวิธีแรกประคบด้วยจะดีมาก
- การนาบหม้อเกลือ การทับหม้อเกลือ หรือ การนึ่งหม้อเกลือ วิธีนี้เป็นการใช้หม้อเกลือมาประคบหน้าท้องและส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งนวดไปด้วย แต่ถ้าหากไม่มีหม้อเกลือที่เป็นหม้อดินเผา สามารถนำหม้อหุงข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จใหม่ๆ มาใช้แทนได้ แต่ต้องนำผ้าขนหนู หรือผ้าที่มีความหนาพอสมควร รองหน้าท้องชั้นหนึ่งก่อนนำหม้อหุงข้าวมาประคบ ซึ่งความร้อนจากหม้อเกลือ หรือหม้อข้าวจะช่วยให้รูขุมขนเปิด และวิธีนี้ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเข้าอู่เร็วกว่าวิธีอื่น
- การการนวดประคบ คือการนำสมุนไพรต่างๆ มากกว่า 10 ชนิด เช่น ขมิ้นตะไคร้การบูร ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน ฯลฯ มาห่อใส่ผ้าแล้วน้ำไปต้ม และทำการประคบร้อนด้วยการนวด ตามบริเวณร่างกาย หรือนั่งทับลูกประคบ 1 ลูก เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อย และรักษาแผลหลังคลอด
- การอบสมุนไพร วิธีนี้คือการให้แม่มือใหม่เข้าไปนั่งอยู่ภายในกระโจม ที่ต้มน้ำสมุนไพรจนเกิดไอน้ำ เพื่อทำให้ไอของสมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนัง
อย่างไรก็ตามการอยู่ไฟนั้น เหมาะสำหรับคุณแม่หลังคลอด ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ มากกว่าการผ่าคลอด เพราะผู้ที่คลอดด้วยการผ่าตัด จะต้องรอให้แผลแห้งสนิทเป็นเวลา 1 เดือนก่อน เพราะอาจทำให้แผลอักเสบระหว่างการอยู่ไฟได้
จากวิธีที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าการอยู่ไฟสามารถทำได้ง่ายไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งวิธีเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ ตามความสะดวกของคุณผู้หญิงหลังคลอดบุตรแต่ละท่าน เพื่อฟื้นฟูสุขภาพหลังคลอดให้แข็งแรง ตามแบบฉบับภูมิปัญญาไทย