ในช่วงนี้ มีข่าวที่สร้างความตึงเครียดปรากฏอยู่บนช่องทางสื่อต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรือข่าวอาชญากรรมก็มีมาให้เห็นได้ไม่เว้นวัน การที่เรารับฟังข่าวสารเพื่อให้ท่วงทันสถานการณ์นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การ เสพข่าวมากเกินไป โดยเฉพาะข่าวร้ายๆ แบบนี้ อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของผู้รับข่าวสารได้ การเสพข่าวมากเกินไป ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิต หาคำตอบได้จากบทความนี้
เสพข่าวมากเกินไป ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพจิต
ตามปกติแล้ว ข่าวที่เราพบเห็นตามสื่อต่าง ๆ มักจะเป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เนื่องจากข่าวที่สะเทือนใจนั้นมักจะดึงดูดความสนใจได้มากกว่า สื่อต่าง ๆ จึงมักชอบที่จะเลือกรายงานข่าวที่สร้างความสะเทือนใจ เช่น ข่าวโรคระบาด ข่าวก่อการร้าย ข่าวการเมือง ข่าวมหันตภัย และแทบจะไม่ให้ความสนใจกับการรายงานข่าวที่เป็นด้านบวกเลย เพราะข่าวร้ายนั้นจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้รับชมได้ง่าย ความให้เกิดความน่าสนใจ น่าติดตาม และเมื่อเราเสพข่าวสารเหล่านั้นไปมาก ๆ ก็จะกลายเป็นความกังวลและความเครียด ส่งผลให้สุขภาพจิตแย่ลงอีกด้วย
คนส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังข่าวด้านลบนั้นมักจะรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวล ด้อยค่า สิ้นหวัง และกังวลกับอนาคตที่จะเกิดขึ้น เช่น ในช่วงที่มีเหตุการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 สื่อทุกช่องก็จะรายงานข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดนี้อยู่ทุกวัน ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกี่ราย เสียชีวิตไปแล้วกี่คน เราสามารถพบเจอข่าวเหล่านี้ได้เกือบทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นบนทีวี วิทยุ หรือแม้แต่ในโซเชียลมีเดีย ผู้ที่รู้สึกเป็นกังวลต่อสถานการณ์ก็จะยิ่งเกาะติดสถานการณ์ คอยอัพเดทข่าวสารอยู่ตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มความกังวลและความเครียดให้กับตัวเองด้วยเช่นกัน
การเสพข่าวสารมากเกินไป จนทำให้รู้สึกกังวล และไม่ปลอดภัย สมองก็จะเข้าใจว่าเรากำลังได้รับอันตราย และกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ อะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมา ฮอร์โมนเหล่านี้อาจส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า วิตกกังวล ซึมเศร้า และอาจถึงขึ้นนอนไม่หลับได้
เทคนิคการรับข่าวสารอย่างเหมาะสม
จำกัดเวลาการรับฟังข่าวสาร
คุณควรควรกำหนด ขีดจำกัดเวลาในการรับฟังข่าวสารในแต่ละวัน เช่น วันละ 30 นาที และพยายามไม่เสพข่าวสารเพิ่มอีกในระหว่างวัน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เล่นโซเชียลมีเดีย ยิ่งต้องควรจำกัดเวลาในการเล่น ให้น้อยลง เพราะในโซเชียลมีเดียนั้นก็มีโอกาสให้เราได้รับรู้ข่าวสารเพิ่มเติมได้เช่นกัน
เลือกแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ
การเลือกรับข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือนั้น นอกจากจะลดความเสี่ยงในการต้องเจอกับข่าวปลอม ที่อาจทำให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็นแล้ว ช่องข่าวที่ดีจะรู้จักวิธีการนำเสนอข่าวอย่างเหมาะสม มีความสมดุลในการรายงานข่าว โดยไม่เน้นหนักไปด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป ช่วยแบ่งเบาความเครียดของผู้ชมไปได้อีกทางหนึ่ง
ฟังข่าวดีบ้าง
เนื่องจากส่วนใหญ่ ข่าวที่รายงานของสื่อหลักๆ นั้นมักจะเป็นข่าวร้าย ข่าวสะเทือนขวัญ หรือข่าวที่คนให้ความสนใจมากๆ จนแทบทำให้เราไม่ได้เห็นข่าวดีๆ ปรากฏอยู่ในช่องข่าวเลย ดังนั้นเพื่อสุขภาพจิตที่ดี เราจึงควรเลือกมองหาข่าวดีๆ มารับฟังบ้าง จะทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้น และลดความเครียดจากการฟังข่าวร้ายไปได้อีกมาก
หาอะไรดีๆ ทำหลังดูข่าว
หลังจากรับชมข่าวที่ทำให้เกิดความเครียด เราก็ควรหาอะไรดีๆ ทำเพื่อกำจัดความเครียด ความกังวล และความรู้สึกแย่ ๆ จากการเสพข่าวออกไป อาจจะเป็นการพักสมองโดยการฟังเพลง อ่านหนังสือ หรืออาจจะเป็นการออกกำลังกาย ที่นอกจากจะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด