เชื่อว่าหลายๆ คน อาจเคยดูหนังหรือได้ยินนิทานเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์กันมาบ้าง บางคนถึงกับจินตนาการว่าอยากเป็นสาวสวยวัยใสอย่างอลิซที่นั่งจิบน้ำชาในดินแดนแปลกประหลาด และยังสามารถพูดคุยกับสัตว์ต่างๆ ได้อีกด้วย ความเป็นจริงนั้นอาจไม่ใช่แค่สิ่งที่คุณคิด แต่กลับมีผู้ป่วย โรคอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ซึ่งถือเป็นอาการทางจิต และความผิดปกติอย่างหนึ่ง ไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกับ Hello คุณหมอ กันเถอะ
มารู้จักกับโรคแปลกใหม่ ที่ชวนให้คุณต้องอึ้ง
อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland syndrome) ไม่ใช่แค่ชื่อหนังแต่เป็นชื่อของโรคทางจิตกลุ่มใหม่ที่มีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยทางจิต ระบบประสาท และการทำงานของสมองส่งผลให้เห็นภาพหลอนมองเห็นวัตถุเคลื่อนไหวได้ รวมถึงรู้สึกได้ว่าตัวคุณเองดูเล็กลง หรือใหญ่ขึ้นกว่าความเป็นจริง
ทางการแพทย์ได้พบผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายอายุเพียง 6 ขวบมีการรับรู้ทางสายตาที่มองเห็นสิ่งรอบตัวอยู่ไกลขึ้นและมีขนาดที่เล็กลง โดยในเฉพาะช่วงเย็นของวัน ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นเพียง 15- 20 นาทีเท่านั้น สันนิษฐานว่าคลื่นไฟฟ้าในสมองของเด็กมีผลเป็นลบจึงทำให้เกิดอาการมองเห็นที่ผิดเพี้ยนขึ้น
ดร.จอห์น ทอดด์ (Dr. John Todd) จิตแพทย์ชาวอังกฤษได้ระบุไว้ในปี 1950 เขาได้ตั้งข้อสังเกตของผู้ป่วยที่มีอาการนี้ และเห็นว่าเป็นอาการคล้ายในนวนิยายของ ลูอิสคาร์โรลล์ (Lewis Carroll’s) ในเรื่องอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ เขาเชื่อว่ามีการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะระบบประสาทของสมอง จึงทำให้เกิดการประมวลผลสภาพแวดล้อมรอบข้างต่างไปจากเดิม
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก ได้แก่ อาการซึมเศร้า โรคจิตเภท ความตึงเครียด ไมเกรน การใช้ยาหลอนประสาทเกินขนาด โรคลมบ้าหมู เนื้องอกในสมอง และการติดเชื้อของไวรัส
อาการที่ทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังเป็น โรคอลิซในดินแดนมหัศจรรย์
- มองเห็นขนาดวัตถุเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนที่ได้
- มีอาการไมเกรนร่วมด้วย
- รู้สึกเวลาผ่านไปช้า หรือเร็วขึ้น
- การได้ยินเสียงที่ผิดปกติ เช่น เสียงดัง เงียบสงบ ทำให้รู้สึกรำคาญ หงุดหงิด
- สูญเสียการควบคุมของแขน และขา
- มองเห็นภาพหลอน
- คลื่นไส้ อาเจียน
รักษาด่วน! หากปล่อยไว้นานอาจเป็นโรคทางจิตได้
ยังไม่มีการรักษาโรคอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ให้หายขาด แต่สามารถทำให้อาการบรรเทาลงได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ ไข่ ปลา สัตว์ปีกเป็นหลัก โดยแบ่งมื้ออาหารเป็นมือเล็กๆ 5-6 มื้อ แทนที่จะรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ เพราะการทำงานหนักของระบบการย่อยอาหารอาจส่งผลให้มีอาการปวดหัวเพิ่มขึ้น
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
- ทำสมาธิให้จิตใจสงบผ่อนคลาย
- อยู่ในห่างจากสภาวะที่ทำให้คุณเครียด หรือทำให้คุณปวดหัว
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
ข้อแนะนำข้างต้นอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ไม่มากก็น้อย หากสังเกตได้ว่า อาการของโรคไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับคำปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือนักบำบัด เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพทางจิต
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด