สำหรับผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิต จากสาเหตุที่หาได้ยาก แพทย์อาจจะทำการตรวจแอลโดสเตอโรน (Aldosterone Test) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมร่างกายจึงมีความดันโลหิตสูง โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อย เพื่อวัดปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ในร่างกาย วันนี้ Hello คุณหมอ จึงมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การตรวจแอลโดสเตอโรน มาให้อ่านกันค่ะ
การตรวจแอลโดสเตอโรน คืออะไร
การตรวจแอลโดสเตอโรน (Aldosterone Test) เป็นการตรวจปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (ALD) ซึ่งเป็นที่ผลิตขึ้นจากต่อมหมวกไต มีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิต โซเดียม และโพแทสเซียมของร่างกาย หากร่างกายมีปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน มากเกินไปจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และมีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ นอกจากนี้หากร่างกายมีปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน มากยังอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น หลอดเลือดแดงในไตตีบ โรคหัวใจล้มเหลว โรคตับแข็ง โรคไตบางชนิด
วิธีการตรวจฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน
การตรวจแอลโดสเตอโรน นั้นจะต้องใช้ตัวอย่าเลือดในการตรวจ
- เช็ดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบริเวณแขนหรือมือที่จะเจาะเลือด
- ใช้ยางรัดที่ต้นแขน เพื่อให้หาเส้นเลือดได้ง่ายขึ้น
- ใช้เข็มเจาะเลือด เพื่อเก็บตัวอย่างเลือด โดยอาจจะเก็บมากกว่า 1 หลอด เพื่อตรวจปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน ในร่างกาย
การตรวจ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน สามารถบอกอะไรได้บ้าง
โดยปกติแล้วการตรวจ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน นั้น มักใช้เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ที่อาจส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติเกลือแร่ของเลือด (electrolytes) หรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกายที่อาจเกิดจาก
- ภาวะเกี่ยวกับไตบางชนิด
- ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
- โรคต่อมหมวกไต
นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วย เช่น
- ความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมได้ยากหรือเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย
- ภาวะความดันต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension)
- ต่อมหมวกได้ผลิต ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน มากเกินไป
- ความผิดปกติของต่อมหมวกไต เช่น ต่อมหมวกไตไม่ทำงาน
เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องตรวจ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน
วิธีการเตรียมตัวเพื่อเข้าตรวจ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน คือ
- ต้องปรับเปลี่ยนการบริโภคโซเดียม โดยในช่วงที่ต้องตรวจนั้นจะต้องบริโภคโซเดียมในปริมาณที่น้อยลง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง
- หลีกเลี่ยงการบริโภคชะเอมเทศ เพราะชะเอมเทศเป็นพืชที่มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน
- ลดความเครียด เพราะความเครียดเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ปริมาณ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน สูงขึ้นได้ด้วย
บางครั้งเมื่อมีการตรวจ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน เรียบร้อยแล้ว แพทย์อาจมีการสั่งให้ตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งการจรวจสอบอื่น ๆ นั้น เช่น การตรวจ Plasma Renin หรือการตรวจด้วย CT Scan ในช่องท้อง เพื่อดูต่อมหมวกไต ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา การตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ได้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ ฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน มีปัญหา และจะได้วางแผนในการรักษาได้อย่างถูกทาง
[embed-health-tool-bmi]