backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

น้ำมันคาโนล่า ประโยชน์ และข้อควระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/07/2022

น้ำมันคาโนล่า ประโยชน์ และข้อควระวังในการบริโภค

น้ำมันคาโนล่า คือ น้ำมันที่ผ่านกระบวนการสกัดและบดจากเมล็ดคาโนล่าหรือดอกผัดกาดก้านขาว ส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารประเภททอด ผัด ย่าง และอบ หรือนำมารับประทานคู่กับสลัด น้ำมันคาโนล่าอุดมไปด้วยกรดไขมันดี โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและโรคอ้วนได้

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมันคาโนล่า

น้ำมันคาโนล่า 1 ช้อนโต๊ะ (14 กรัม) อาจให้พลังงาน 124 กิโลแคลอรี่ และสารอาหารอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไขมัน 14 กรัม แบ่งออกเป็น กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 8.86 กรัม กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 3.94 กรัม และกรดไขมันอิ่มตัว 1.03 กรัม
  • วิตามินอี 2.45 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค 9.98 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ น้ำมันคาโนล่ายังมีโอเมก้า 3 ที่อาจช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้

ประโยชน์ของน้ำมันคาโนล่า

น้ำมันคาโนล่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของน้ำมันคาโนล่าในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยลดไขมันในเลือด

น้ำมันคาโนล่ามีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ซึ่งเป็นกรดไขมันที่พบได้ในพืช มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือด จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

จากการศึกษาในวารสาร Medical Journal of the Islamic Republic of Iran เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาว่าน้ำมันคาโนล่าและน้ำมันดอกทานตะวันส่งผลต่อระดับไขมันของผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติอย่างไร โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 96 คน ได้รับการสุ่มให้รับประทานน้ำมันคาโนล่า 44 คน และน้ำมันดอกทานตะวัน 52 คน พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีระดับไขมันไม่ดีในเลือดลดลง และมีปริมาณของไขมันดีในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

  • อาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

น้ำมันคาโนล่าอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องรับจากอาหารเท่านั้น โอเมก้า 3 อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและการเรียนรู้ ที่อาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

จากการศึกษาในวารสาร BioMed Research International เมื่อปี 2558 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการป้องกันโรคทางระบบประสาทในระยะเริ่มต้นและโรคอัลไซเมอร์ พบว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 มีสายโซ่ยาวที่เกิดจากการเรียงตัวธาตุคาร์บอนระหว่าง 14 ถึง 24 ตัว ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญต่อสุขภาพ พัฒนาการและสมอง ที่อาจช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในสมอง ลดการอักเสบ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สมอง และอาจป้องกันอัลไซเมอร์ได้แค่ในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาว เกี่ยวกับประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการศึกษาชี้ว่าการรับประทาน ไก่ เป็ด อาหารทะเล ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง วอลนัท อัลมอนด์ กล้วย แอปเปิ้ล องุ่น มะเขือเทศ แตงกวา แครอท น้ำมันมะกอก น้ำมันอะโวคาโด และ น้ำมันคาโนล่า ซึ่งมีปริมาณไขมันดีอาจช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ได้

  • อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

น้ำมันคาโนล่าสกัดเย็นที่ไม่ผ่านกระบวนการกลั่นมักจะอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และวิตามินอี ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เนื่องจากวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์จากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เกิดจากอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

จากการศึกษาในวารสาร Annals of Saudi Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2550 ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินอีในการป้องกันมะเร็งจากการวิเคราะห์การทดลองแบบสุ่ม โดยรวบรวมข้อมูลการศึกษา 12 บทความ ที่มีผู้เข้าร่วม 167,025 คน พบว่า การรับประทานวิตามินอีอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามอาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจนของการรับประทานวิตามินอีในการป้องกันมะเร็งชนิดอื่น

ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันคาโนล่า

น้ำมันคาโนล่าแบบสกัดเย็นที่ไม่ผ่านกระบวนการกลั่นอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างครบถ้วน แต่น้ำมันที่ขายทั่วไปส่วนใหญ่มักกลั่นโดยใช้ความร้อนและสารเคมี จึงอาจส่งผลให้ปริมาณของสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระลดลง อีกทั้งน้ำมันคาโนล่าอาจมีปริมาณของกรดอีรูซิก (Erucic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันแบบไม่อิ่มตัวในกลุ่มโอเมก้า 9 ในระดับสูง หากรับประทานในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก และอาจเสี่ยงต่อการตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วน้ำมันคาโนล่าที่ผ่านการตรวจสอบและการรับรองจากองค์การอาหารและยามักมีปริมาณของกรดอีรูซิกในระดับต่ำทำให้สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา