backup og meta

blueberry (บลูเบอร์รี่) ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    blueberry (บลูเบอร์รี่) ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    blueberry หรือบลูเบอร์รี่ เป็นผลไม้ในตระกูลเบอร์รี่ ผลกลมขนาดเล็กสีม่วงเข้ม มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นิยมรับประทานแบบสด ๆ และนำมาทำขนม เช่น พาย แยม ซอส บลูเบอร์รี่มีสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินนานาชนิด เช่น มีประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และอาจมีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิตได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ blueberry

    บลูเบอร์รี่สด 1 ถ้วย ให้พลังงาน 84 กิโลแคลอรี่ ประกอบไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ดังต่อไปนี้

  • คอเลสเตอรอล 0 กรัม
  • โปรตีน 1.1 กรัม
  • ไขมัน 0.49 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 21.45 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3.6 กรัม
  • น้ำตาล 14.74 กรัม
  • โพแทสเซียม 114 มิลลิกรัม
  • โฟเลต 9 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.24 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.14 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ บลูเบอร์รี่ ยังมีวิตามินซี วิตามินบี 6 และวิตามินเคด้วย

    ประโยชน์ของ blueberry ต่อสุขภาพ

    บลูเบอร์รี่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณในการป้องกันโรค รักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพของบลูเบอร์รี่ ดังนี้

    บำรุงสุขภาพผิว

    บลูเบอร์รี่มีวิตามินซีซึ่งมีส่วนช่วยในการบำรุงผิวและช่วยปกป้องผิวจากความเสียหายที่เกิดจากแสงแดด มลภาวะและควันที่พบเจอในแต่ละวัน นอกจากนี้ วิตามินซียังช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งมีส่วนช่วยลดเลือนริ้วรอยทำให้ผิวหน้าเรียบเนียนขึ้น

    บำรุงกระดูกให้แข็งแรง

    บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม แมงกานีส สังกะสี และวิตามินเค ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่มีอยู่ในกระดูก หากร่างกายได้รับสารอาหารเหล่านี้อย่างเพียงพอ ก็จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกได้ นอกจากนี้ ธาตุเหล็กและสังกะสียังมีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกระดูกและข้อต่อ ส่วนวิตามินเคอาจช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม และอาจลดการสูญเสียแคลเซียมได้

    ลดความดันโลหิต

    บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีโซเดียมต่ำ ซึ่งร่างกายควรมีระดับโซเดียมที่ไม่สูงเกินไปเพื่อรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ บลูเบอร์รี่ยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม

    บทความวิชาการชิ้นหนึ่ง เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Clinical Hypertension ระบุว่า การบริโภคสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้

    ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ

    บลูเบอร์รี่ประกอบไปด้วยไฟเบอร์ โพแทสเซียม โฟเลต วิตามินซี วิตามินบี 6 และไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrient) ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง นอกจากนี้ บลูเบอร์รี่ยังเป็นผลไม้ที่ปราศจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งดีต่อสุขภาพหัวใจ ส่วนไฟเบอร์ก็ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ที่สำคัญวิตามินบี 6 และโฟเลตยังป้องกันการสะสมของสารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) หากร่างกายสะสมสารนี้มากเกินไป อาจทำลายหลอดเลือดและทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจได้

    นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยของ Harvard School of Public Health และ University of East Anglia ยังพบว่า การบริโภคอาหารที่มีแอนโธไซยานินเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวายได้ถึง 32%

    ป้องกันมะเร็ง

    วิตามินซี วิตามินเอ และไฟโตนิวเทรียนท์ที่พบได้ในบลูเบอร์รี่ ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลาย การวิจัยแสดงให้เห็นว่า สารต้านอนุมูลอิสระอาจยับยั้งการเติบโตของเนื้องอก ลดการอักเสบในร่างกาย และช่วยขับไล่หรือชะลอการเกิดมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้ บลูเบอร์รี่ยังมีโฟเลต ซึ่งมีบทบาทในการสังเคราะห์และซ่อมแซมดีเอ็นเอ ซึ่งช่วยป้องกันการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง เนื่องจากการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอ

    ช่วยย่อยอาหารและช่วยลดน้ำหนัก

    บลูเบอร์รี่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่มีส่วนช่วยป้องกันอาการท้องผูก และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานอย่างปกติ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ยังอาจช่วยลดน้ำหนักและมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนักได้ด้วย

    ข้อควรระวังในการรับประทานบลูเบอร์รี่

    สำหรับผู้ที่รับประทานยาเจือจางเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานบลูเบอร์รี่ เพราะบลูเบอร์รี่มีวิตามินเค (Vitamin K) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในกระบวนการแข็งตัวของเลือด การได้รับวิตามินเคมากเกินไปอาจลดประสิทธิภาพของยาได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Duangkamon Junnet · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา