backup og meta

ละมุด ผลไม้หวานฉ่ำ ที่มาพร้อมกับประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพ

ละมุด ผลไม้หวานฉ่ำ ที่มาพร้อมกับประโยชน์ดี ๆ ต่อสุขภาพ

หากจะพูดถึงผลไม้ที่มีรสชาติหวานฉ่ำ ละมุน นุ่มลิ้น หนึ่งในลิสต์ที่จะต้องถูกพูดถึงขึ้นมาแน่นอนนั่นก็คือ ละมุด ซึ่งเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่นอกจากรสชาติที่หวานจับใจแล้ว ละมุดก็ยังให้คุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย Hello คุณหมอ มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับละมุดมาฝากค่ะ

สารอาหารใน ละมุด

ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติค่อนไปทางหวานถึงหวานมาก บางสายพันธุ์ให้รสหวานเป็นที่ติดอกติดใจใครหลายคน อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะรู้สึกเป็นกังวลในเรื่องของระดับน้ำตาล เพราะยิ่งหวานมาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะได้รับปริมาณน้ำตาลในผลไม้มากตามไปด้วย แต่…ถ้ารับประทานในปริมาณที่พอดี นอกจากจะไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องของระดับน้ำตาลแล้ว ร่างกายก็ยังจะได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากละมุดด้วย เพราะละมุดอุดมไปด้วยธาตุอาหารจำเป็นอย่างเช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม (Potassium) แมกนีเซียม โฟเลต (Folate) ไนอาซิน แคลเซียม (Calcium) โปรตีน ไฟเบอร์ รวมถึงวิตามินสำคัญอย่าง วิตามินซีและวิตามินเอด้วย

ประโยชน์ของ ละมุด

เป็นยาระบาย

ละมุดเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ให้ไฟเบอร์สูง  การรับประทานละมุด 100 กรัม จะได้ไฟเบอร์ประมาณ 5 กรัม การรับประทานผักหรือผลไม้ที่ให้ไฟเบอร์ในปริมาณมาก ไฟเบอร์จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร และมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยป้องกันปัญหาท้องผูกได้

มีสรรพคุณต้านการอักเสบ

ละมุดมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อ แทนนิน (Tannin) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของอาการอักเสบ หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบในร่างกาย เช่น กรดไหลย้อน ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน

เป็นแหล่งของวิตามินซี

ละมุดแม้จะไม่มีรสเปรี้ยว แต่ก็ให้วิตามินซีที่เพียงพอต่อร่างกายเช่นเดียวกับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว การรับประทานละมุด 100 กรัม จะได้วิตามินซีประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ ต่อปริมาณของวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน และการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เชื้อหวัด มากไปกว่านั้น วิตามินซียังมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายถูกทำลายจากอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ

ละมุดให้สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ทั้งแทนนิน (Tannin) วิตามินซี และวิตามินเอ ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ ทำหน้าที่สำคัญในการเพิ่มความแข้งแรงของเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นอันตราย ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้ามาทำร้ายเซลล์ จนอาจก่อให้เกิดอาการทางสุขภาพ เช่น มะเร็ง

บำรุงสมอง

กระบวนการทำงานของสมอง จำเป็นจะต้องใช้ออกซิเจนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานด้วย การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารสำคัญช่วยในการลำเลียงออกซิเจนไปยังสมองอย่าง ธาตุเหล็ก ถือว่ามีส่วนช่วยในการทำงานของสมองได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เต็มที่ ก็จะช่วยเสริมสมาธิ ลดความเสี่ยงของปัญหาความจำ โดยเฉพาะถ้าใครมีภาวะขาดแคลนธาตุเหล็ก จะรู้สึกได้ว่าไม่ค่อยมีสมาธิ หงุดหงิดง่าย โดยหนึ่งในผลไม้ที่ให้ธาตุเหล็กสูงก็คือละมุดนี่เอง

ข้อควรระวังในการกิน ละมุด

มีข้อควรระวังบางประการในการกินละมุด ดังนี้

  • ละมุดควรรับประทานผลที่สุกแล้วเท่านั้น เพื่อให้ได้รสชาติที่หวานอร่อย เพราะการกินละมุดที่ยังไม่สุกจะให้รสชาติที่เฝื่อน และยังมียางที่มีความเข้มข้นสูง เสี่ยงที่จะเกิดแผลในปาก หรือมีอาการระคายเคืองในลำคอ
  • ละมุดเป็นผลไม้ที่มีระดับน้ำตาลสูง ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเบาหวาน ควรระมัดระวังการกินละมุด
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ละมุด ซึ่งถึงแม้จะพบได้น้อยมาก แต่ก็ควรระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้กำเริบ

ละมุดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวานอร่อย ถึงจะหวานไปหน่อย แต่ถ้ากินในปริมาณที่เหมาะสม ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Sapodilla. https://www.medindia.net/patients/lifestyleandwellness/health-benefits-of-chikoo.htm. Accessed on December 03, 2020.

Sapodilla (Sapota) nutrition facts. https://www.nutrition-and-you.com/sapodilla.html. Accessed on December 03, 2020.

Sapodilla facts and health benefits. https://www.healthbenefitstimes.com/sapodilla/. Accessed on December 03, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/12/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ส้มโอ

มะรุม พืชสมุนไพรไทยใกล้ตัวกับประโยชน์ต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 04/12/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา