backup og meta

สังเกตตัวเอง คุณกำลังมีพฤติกรรมชอบ กินแก้เบื่อ อยู่หรือเปล่า

สังเกตตัวเอง คุณกำลังมีพฤติกรรมชอบ กินแก้เบื่อ อยู่หรือเปล่า

บางครั้งเมื่อเรารู้สึกเบื่อ ไม่มีอะไรทำ หรือรู้สึกเหงา เราก็มักจะพบว่าตัวเองกำลังยืนอยู่หน้าตู้เย็น และมองหาของกินเพื่อมาเติมเต็มความรู้สึกที่ว่างเปล่าเหล่านี้อยู่เสมอ เพราะการที่เราได้เคี้ยวอาหารจะช่วยให้ปากมีงานทำและไม่รู้สึกเหงา ทั้งยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากความรู้สึกเบื่อได้อีกด้วย แต่การ กินแก้เบื่อ นี้ทำได้จริงๆ เหรอ และเราจะหยุดพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร หาคำตอบได้จากบทความนี้

กินแก้เบื่อ กินอย่างไร

บ่อยครั้งที่เวลาเราอยู่ว่างๆ นั่งดูหนังไปเรื่อยๆ หรือคิดอะไรเพลิน ๆ เรามักจะพบว่าตัวเองกำลังเคี้ยวอาหาร หรือเคี้ยวขนมอยู่อย่างเพลิดเพลิน โดยที่ไม่ได้หิวอะไร รู้สึกตัวอีกที ขนมในตู้เย็นก็หมดไปเสียแล้ว เหลือทิ้งไว้แต่แคลอรี่ส่วนเกินในร่างกาย ทำให้เราต้องมารู้สึกผิดในภายหลัง

ลักษณะพฤติกรรมการกินตามอารมณ์เหล่านี้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะเมื่ออาหารที่เราเลือกกิน มักจะเป็นอาหารที่มีแคลอรี่สูง มีน้ำตาลสูง และมีไขมันสูง ไม่ว่าจะเป็น ขนมหวาน ของทอด หรือของมันต่างๆ ซึ่งหากเรายังคงเลือกกินเพื่อแก้เบื่ออยู่ต่อไป ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ

สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมการกินแก้เบื่อ

ความรู้สึกอยากกินนั้นจะมาอย่างกะทันหัน บ่อยครั้งที่เมื่อเรารู้สึกเบื่อ เราก็จะเกิดความรู้สึกว่าอยากกินสิ่งนั้นสิ่งนี้ และจะต้องได้กินเดี๋ยวนั้นทันที โดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกหิวมาก่อน

กินทุกอย่างที่ขวางหน้า เมื่อเรารู้สึกเบื่อเราก็จะมองหาอาหารที่มาช่วยบรรเทาอาการเหงาปาก และสามารถกินได้ทุกอย่างที่อยู่ในตู้เย็น โดยไม่ได้สนใจว่าอาหารเหล่านั้นจะดีต่อสุขภาพหรือไม่

กินแล้วกินอีก การกินแก้เบื่อนั้นจะช่วยเติมเต็มคุณได้เพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก คุณก็จะรู้สึกเบื่อ และกลับมาหาอะไรกินอีกรอบ กลายเป็นวัฎจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด

มักจบลงด้วยความรู้สึกผิด ลึก ๆ ในใจของทุกคนมักจะรู้อยู่แล้วว่า การกินอาหารเพื่อแก้เบื่อนั้นไม่ใช่เรื่องดี แต่ความรู้สึกอยากกินก็ยังทำให้เราไม่สามารถหยุดกินได้อยู่ดี ดังนั้นจึงมักจะจบลงที่ความรู้สึกผิดหลังจากที่กินอาหารเหล่านั้นลงไป

ทำไมเวลาที่เราเบื่อ เราถึงกิน

งานวิจัยพบว่า อาการเบื่อนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกเป็นสุข และการมีความหมายในชีวิต ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตขาดความหมาย ดังนั้นเราจึงพยายามมองหากิจกรรมบางอย่างที่จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากความรู้สึกนั้น และกิจกรรมที่ทำได้ง่ายที่กิน ก็คือการกิน

งานวิจัยพบว่า การกินอาหารสามารถทำให้เรารู้สึกพึงพอใจและมีความสุขได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอาหารหวานๆ เช่น ลูกอม น้ำตาล หรือขนม ที่สามารถช่วยให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุข ที่จะช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกพึงพอใจ ตื่นตัว กระฉับกระเฉง และมีความสุขมากขึ้น การกินนั้นยังช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความรู้สึกเบื่อและว่างเปล่าในชีวิต ดังนั้น หลายคนจึงเลือกที่จะหาอะไรกินเวลาที่รู้สึกเบื่อ เพราะการกินนั้นจะทำให้พวกเขารู้สึกดีมากขึ้น

เทคนิคการปรับพฤติกรรมกินแก้เบื่อ

เบี่ยงเบนความสนใจ เปลี่ยนจากการกินเพื่อแก้เบื่อ มาหาวิธีอื่นที่ดีกว่าในการเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น พักผ่อน ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข จะช่วยแก้ปัญหาการชอบหาของกินในช่วงเวลาเบื่อๆ ได้

วางแผนการกิน พยายามสร้างตารางการกินอาหารในแต่ละวัน โดยกำหนดว่าวันนี้จะกินอะไรเท่าไหร่ เพื่อป้องกันการกินอาหารนอกเหนือจากตารางที่วางไว้

เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หากต่อต้านไม่ได้ก็จงเข้าร่วม ในบางครั้ง คุณก็อาจจะไม่สามารถหยุดพฤติกรรมการกินแก้เบื่อได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์แทน โดยพยายามเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ น้ำตาลน้อย และมีใยอาหารสูง โดยเฉพาะของขบเคี้ยวไขมันต่ำ อย่างเช่น ถั่ว ผัก ผลไม้สด ผลไม้อบแห้ง หรือลูกอมและหมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาลต่างๆ จะช่วยคลายอาการเหงาปาก โดยไม่แต่ไม่เสียสุขภาพแต่อย่างใด

 

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Snacks to Eat When You’re Bored https://www.verywellfit.com/snacks-to-eat-when-youre-bored-4058884. Accessed 16 March 2020
Eaten up by boredom: consuming food to escape awareness of the bored self https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4381486/. Accessed 16 March 2020
Do You Eat Out of Boredom? https://www.psychologytoday.com/us/blog/bad-appetite/201112/do-you-eat-out-boredom. Accessed 16 March 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/07/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคคลั่งกินคลีน (orthorexia) ภาวะที่คนรักอาหารสุขภาพต้องระวัง

กินผักตามฤดูกาล หลักในการกินง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/07/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา