backup og meta

ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน มีอะไรบ้าง และควรดูแลสุขภาพอย่างไร

ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน มีอะไรบ้าง และควรดูแลสุขภาพอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรศึกษาวิธีดูแลสุขภาพของคนท้องอย่างเหมาะสมในช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือน (การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก) ซึ่งเป็นช่วงที่คนท้องต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษเนื่องจากครรภ์ยังอ่อนอยู่มาก ทั้งนี้ การปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับ ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน อาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทั่วไป คนท้องควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ปลาที่มีสารปรอท อาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก อาหารทะเลสด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ รับควันบุหรี่มือสอง สูดดมหรือสัมผัสสารพิษ และควรระมัดระวังในการรับวัคซีนบางชนิดเนื่องจากอาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงติดเชื้อได้

[embed-health-tool-due-date]

ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน

ข้อห้ามคนท้อง 1-3 เดือน อาจมีดังนี้

คนท้องไม่ควรรับประทานอาหารบางชนิด

คนท้องควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเป็นอย่างมาก ควรรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน หลากหลาย และครบทั้ง 5 หมู่ในทุกมื้อ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ และควรเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่สด สะอาด เพื่อให้ร่างกายได้รับสารปนเปื้อนน้อยที่สุด เพราะการรับประทานอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือเกิดโรคอาหารเป็นพิษที่ทำให้อาการแพ้ท้องในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกแย่ลง

อาหารที่คนท้องควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย เช่น

  • เนื้อสัตว์ดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ลาบก้อย ลาบเลือด ซอยจุ๊ เนื้อหมูที่ยังสุกไม่เต็มที่ เพราะอาจมีเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียโคลิฟอร์ม (Coliform) พยาธิท็อกโซพลาสมากอนดิไอ (Toxoplasma gondii) ที่ทำให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
  • อาหารทะเลสด เช่น ปลาดิบ กุ้งเต้น หมึกช็อต หอยนางรมสด อาหารทะเลดอง เพราะอาจมีเชื้อโรค เช่น เชื้อซาลโมเนลล่า เชื้อโนโรไวรัส เชื้อลิสเทอเรีย (Listeria) ที่ทำให้ท้องเสียหรือทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้
  • ปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อนในระดับสูง เช่น ฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาคิงแมคเคอเรล ปลาไทล์ อาจส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการล่าช้าและสมองเสียหายได้
  • อาหารเนื้อตัดเย็นหรือโคลด์คัท (Cold Cuts หรือ Deli Meat) เช่น เนยแข็งหรือชีส ไส้กรอก เบคอน หมูแฮม เนื้อบดอบ เนื่องจากเป็นอาหารปรุงสุกแช่เย็นที่เสียได้ง่ายเมื่อมาอยู่ในอุณหภูมิปกติ อาจทำให้ท้องเสีย ทั้งยังอาจมีเชื้อลิสทีเรียปนเปื้อน หากทารกในครรภ์ได้รับเชื้อผ่านทางรกอาจเสี่ยงเกิดการแท้งได้ หากต้องการรับประทานอาหารจำพวกนี้ควรนำมาอุ่นใหม่ทุกครั้ง นอกจากนี้เนื้อสัตว์สำเร็จรูปยังมีโซเดียมสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงแก่คนท้องได้
  • ไข่ดิบ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ เช่น น้ำสลัดซีซาร์โฮมเมด มายองเนส ไอศกรีมโฮมเมด คัสตาร์ด เพราะอาจมีเชื้อซาลโมเนลล่าปนเปื้อนได้
  • นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือพาสเจอไรส์ เพราะอาจมีเชื้อลิสทีเรีย คนท้องควรเลือกดื่มนมที่พาสเจอไรส์แล้ว และควรเลือกนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวชนิดไขมันต่ำ
  • คาเฟอีน เช่น ดาร์กช็อกโกแลต กาแฟ ชา เพราะอาจทำให้หลอดเลือดในมดลูกและรกตีบตัน จนเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้น้อยและทำให้ทารกโตช้าลง และอาจเสี่ยงเกิดการแท้งได้ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนหรือช่วงไตรมาสที่ 1 อีกทั้งคาเฟอีนยังออกฤทธิ์ขับของเหลว จึงอาจทำให้คนท้องต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้นและสูญเสียน้ำในร่างกายมากกว่าปกติ ทั้งนี้ คนท้องยังสามารถบริโภคคาเฟอีนได้ แต่ควรลดปริมาณลงไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน

คนท้องไม่ควรบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

คนท้องในทุกไตรมาส โดยเฉพาะคนท้อง 1-3 เดือนไม่ควรบริโภคแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทำให้เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย และอาจทำให้แท้งได้ ยิ่งบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์มากเท่านั้น นอกจากนี้ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังอาจทำให้ทารกเกิดกลุ่มอาการแอลกอฮอล์ซินโดรม (Fetal Alcohol Syndrome หรือ FAS) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการผิดปกติของทารกที่คุณแม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติ เช่น

  • โครงสร้างกระโหลกศีรษะและระบบอวัยวะสำคัญอย่างสมองและหัวใจผิดปกติ
  • ใบหน้าบิดเบี้ยวผิดไปจากปกติ ตามีขนาดเล็ก ตาสั้นหรือเชิดขึ้น แก้มแบน ริมฝีปากบาง
  • เจริญเติบโตช้า
  • มีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทส่วนกลาง ทารกอาจปัญญาอ่อน ไอคิวต่ำ ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่ดี มีปัญญาด้านการเรียนรู้ การมีสมาธิจดจ่อ การแก้ไขปัญหา ไปจนถึงปัญหาด้านการพูดหรือได้ยิน

ความผิดปกติบางอย่างอาจดีขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ภาวะสุขภาพบางอย่างอาจเกิดขึ้นถาวรและไม่สามารถรักษาให้หายได้

คนท้องทุกไตรมาสไม่ควรฉีดวัคซีนบางชนิด

คนท้องควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนบางชนิด โดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น เพราะมีความเสี่ยงที่เชื้อจะเดินทางไปยังรกและทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้ จึงควรรอจนกระทั่งหลังคลอดค่อยไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

วัคซีนที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง เช่น

  • วัคซีนไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human Papillomavirus) หรือที่เรียกว่าเชื้อเอชพีวี (HPV)
  • วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR vaccine)
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (Live influenza vaccine)
  • วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella Vaccine/Chickenpox Vaccine)
  • วัคซีนสำหรับเดินทาง อย่างวัคซีนไข้เหลือง (Yellow Fever) วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) วัคซีนโรคไข้สมองอักเสบ หรือ เจอี (Japanese encephalitis หรือ JE)

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คนท้องฉีดวัคซีนบางชนิดที่สามารถฉีดได้ตามปกติขณะตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) ที่ผลิตจากไวรัสเชื้อตาย ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูฝน หรือเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูหนาวของปีและมักมีไข้หวัดใหญ่ระบาด และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก โรคคอตีบ และโรคไอกรน (Tdap) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันส่งต่อไปให้ทารก ทั้งนี้ คนท้องควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนทุกครั้ง

วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง 1-3 เดือน

การดูแลตัวเองขณะท้อง 1-3 เดือน อาจทำได้ดังนี้

  • ไปฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจสุขภาพและดูแลครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์ หากคุณหมอตรวจพบความผิดปกติจะได้สามารถวางแผนการรักษาและป้องกันอันตรายต่อคนท้องและทารกในครรภ์ได้อย่างทันท่วงที
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนหลากหลาย เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักใบเขียว ผลไม้ตามฤดูกาล ไข่ต้มสุก นมและผลิตภัณฑ์จากนมวัวไขมันต่ำ พืชตระกูลถั่ว
  • รับประทานวิตามินเสริมสำหรับคนท้องตามที่คุณหมอแนะนำ รวมไปถึงรับประทานกรดโฟลิคปริมาณ 0.4 มิลลิกรัม/วัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนไปจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการแท้งและความผิดปกติของระบบประสาทและสมองของทารก
  • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด ด้วยการการแช่ผักไว้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชูประมาณ 10 นาที จากนั้นล้างให้สะอาดแบบน้ำไหลผ่านพร้อมใช้มือถูเบา ๆ เพื่อกำจัดสารพิษจากยาฆ่าแมลงและเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการรับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบข้าง
  • ล้างมือให้สะอาดแล้วเช็ดมือให้แห้งทั้งก่อนประกอบอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำทุกครั้ง
  • ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและเตรียมพร้อมรับน้ำหนักของหน้าท้องที่จะขยายใหญ่มากขึ้นตามอายุครรภ์
  • ดื่มน้ำเปล่าและของเหลวอื่น ๆ เช่น นมไขมันต่ำ น้ำผลไม้พาสเจอไรส์น้ำตาลน้อย อย่างน้อย 8-10 แก้ว/วัน เพื่อรักษาสมดุลของระดับของเหลวในร่างกาย และช่วยให้ผลิตเลือดไปหล่อเลี้ยงมดลูกได้อย่างเพียงพอ
  • ควรเลือกรับประทานปลาที่มีสารปรอทปนเปื้อนน้อย เช่น ปลานิล ปลาไส้ตัน ปลากะพงดำ ปลาแองโชวี่ ปลาซาร์ดีน และซื้อปลาจากแหล่งที่สดและสะอาด โดยทั่วไป ควรรับประทานปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรอดนอนหรือทำงานหนักจนร่างกายอ่อนเพลีย

อาการแบบไหนในช่วงท้อง 1-3 เดือนที่ควรไปพบคุณหมอ

หากคนท้องมีอาการต่อไปนี้ในช่วงท้อง 1-3 เดือน ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีเลือดออกมากทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติ
  • เป็นตะคริวที่ท้อง แขน ขา อย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดท้อง
  • อาเจียนหรือท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • วิงเวียนศีรษะ หมดสติ
  • ใบหน้า มือ นิ้วมือ บวม
  • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่โฟกัส

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

First Trimester. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9699-first-trimester. Accessed February 9, 2023

Foods to Avoid When Pregnant. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/foods-to-avoid-during-pregnancy/. Accessed February 9, 2023

Fetal Alcohol Syndrome (FAS). https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/fetal-alcohol-syndrome/. Accessed February 9, 2023

Pregnancy Precautions. https://kidshealth.org/en/parents/pregnancy-precautions.html.

Vaccines During Pregnancy FAQs. https://www.cdc.gov/vaccinesafety/concerns/vaccines-during-pregnancy.html. Accessed February 9, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องกินยาแก้แพ้ได้ไหม เมื่อเกิดอาการแพ้ควรดูแลตัวเองอย่างไร

คนท้องห้ามกินอะไร และการดูแลตัวเองก่อนคลอด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา