backup og meta

คุณแม่ตั้งครรภ์ 20 week เท่ากับกี่เดือน และมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร

คุณแม่ตั้งครรภ์ 20 week เท่ากับกี่เดือน และมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร

วิธีการนับอายุครรภ์สามารถนับได้ 2 รูปแบบ คือ แบบสัปดาห์และแบบเดือน โดยคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ได้ 20 week (สัปดาห์) หรือ 5 เดือน อาจอยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพตัวเองและทารกเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ 

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

คุณแม่ตั้งครรภ์ 20 week เท่ากับกี่เดือน

คุณแม่ตั้งครรภ์ 20 week เท่ากับตั้งท้องได้ 5 เดือน เป็นการตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งร่างกายของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • ขนาดหน้าท้องโตขึ้น

เมื่อทารกในครรภ์เจริญเติบโต มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้ทารกในครรภ์มีพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่รู้สึกอึดอัด จึงทำให้หน้าท้องของคุณแม่ขยายตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยจนกว่าจะคลอด

  • หน้าอกขยาย คัดเต้า

ในการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่อาจเริ่มมีอาการเต้านมคัด เจ็บหน้าอกเมื่อถูกเสียดสีและสัมผัส แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 อาการเจ็บหน้าอกจะลดลง เต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น เพื่อเตรียมผลิตน้ำนม กักเก็บน้ำนมให้ทารกกินหลังคลอด คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อชั้นในที่พอดีตัว ใส่สบาย ไม่กดทับหน้าอก เช่น สปอร์ตบรา

  • ความเครียด วิตกกังวล

ในช่วงไตรมาสที่ 2 คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยน้อยลงกว่าช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก แต่อาจมีความเครียดมากขึ้นเพราะใกล้ถึงกำหนดคลอดขึ้นเรื่อย ๆ คุณแม่อาจคลายเครียดด้วยการทำงานอดิเรก นั่งสมาธิ ฟังเพลง หรืออาจศึกษาเกี่ยวกับการดูแลตัวเองก่อนคลอด วิธีจัดการกับความเจ็บปวดช่วงใกล้คลอด และวิธีเลี้ยงทารกหลังคลอด เพื่อคลายความวิตกกังวล และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต

  • วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดอาจมีการเปลี่ยนแปลง ควรหลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแก้ปวดอื่น ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง เช่น ยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้ปิดกั้นทางเดินเลือดในหัวใจของทารก เพิ่มความเสี่ยงที่ส่งผลให้ไตทารกทำงานผิดปกติ นำไปสู่ทารกพิการแต่กำเนิด การแท้งบุตร ถ้าอาการปวดศีรษะไม่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ดื่มน้ำให้มาก ๆ และเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ อย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

  • ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจผลิตเลือดมากขึ้น เพื่อนำเลือดไปหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ ทำให้อาจมีอาการเยื่อบุจมูกบวม คัดจมูก หายใจไม่สะดวก และเสี่ยงเลือดกำเดาไหล คุณแม่ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เปิดเครื่องทำความชื้น และทาปิโตเลียมเจลเพิ่มความชุ่มชื้นรอบจมูก และช่วยลดน้ำมูก

  • สุขภาพช่องปาก

ระหว่างการตั้งครรภ์ เหงือกของคุณแม่อาจอ่อนแอลง ทำให้มีเลือดออกง่าย โดยเฉพาะขณะขัดฟันหรือแปรงฟัน อีกทั้งอาการแพ้ท้องอาจทำให้คุณแม่อาเจียนบ่อยครั้งส่งผลให้สารเคลือบฟันถูกทำลาย เสี่ยงต่อฟันผุคุณแม่จึงควรรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม และกลั้วปากด้วยน้ำเกลือเพื่อลดการระคายเคือง

  • สีของผิวหนังเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเมลานินที่เป็นเซลล์สร้างเม็ดสีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดฝ้าบนหน้า เส้นสีดำบนหน้าท้อง รอยแตกลายที่ขา หน้าอก หน้าท้อง ก้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะเกิดขึ้นกับสตรีตั้งครรภ์และอาจหายเองหลังคลอด

คุณแม่อาจทาครีมโลชั่นลดรอยแตกลาย และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-14.00 น. ที่มีแดดแรงจัด หรือทาครีมกันแดดอย่างน้อย SPF 30 เพราะแสงแดดอาจส่งผลให้ปัญหาผิวแย่ลง

  • ปวดขา

เนื่องจากหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารกอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ส่งผลให้มีอาการปวดขาและข้อต่อต่าง ๆ เพราะต้องรองรับน้ำหนักตัว บางคนอาจเป็นตะคริว โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวควรยืดกล้ามเนื้อก่อนนอน เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย หรือประคบน้ำแข็งหรือนวดเมื่อเกิดเป็นตะคริว

  • มดลูกหดตัว

การหดตัวของมดลูกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงบ่ายหรือเย็นของวัน ที่อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีอาการปวดท้อง เกร็งหน้าท้องเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่มีความกังวลสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอได้

  • ตกขาว

อาการตกขาวเป็นเรื่องปกติสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่หากสังเกตว่าตกขาวมีสีผิดปกติ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เหนียวข้น หรือเกิดอาการแสบคันบริเวณช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อในช่องคลอด

  • ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ

คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 อาจมีโอกาสติดเชื้อทางเดินปัสสาวะค่อนข้างสูง เนื่องจากมดลูกขยายไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ หากสังเกตพบอาการไข้ ปวดหลัง แสบร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นฉุนและมีสีขุ่น ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณการติดเชื้อปัสสาวะรุนแรงและอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในไตร่วมด้วย

การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์อายุ 20 week

ทารกในครรภ์อายุ 20 สัปดาห์ หรือ 5 เดือน ทารกอาจมีการเคลื่อนไหวถี่ขึ้น เนื่องจากทารกมักหลับ ๆ ตื่น ๆ อยู่เป็นประจำ บางครั้งก็อาจตื่นจากการได้ยินเสียงดังภายนอก ซึ่งสามารถสังเกตได้จากทารกดิ้น ถีบท้องคุณแม่ ในช่วงสัปดาห์นี้ทารกอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ได้แก่

  • มีลำตัวยาวประมาณ 160 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 320 กรัม
  • เริ่มมีผมบนหนังศีรษะ ขนอ่อนตามลำตัว
  • กล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรง มีการเคลื่อนไหว
  • เล็บขึ้นที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า และมีนิ้วเท้าแยกออกจากกันไม่เป็นพังผืด
  • เปลือกตาเริ่มเปิดขึ้น

วิธีดูแลตัวเองและทารกในครรภ์

วิธีดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ 

คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีสารอาหารครบถ้วน เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ ที่อุดมไปด้วย แคลเซียม โฟเลต เหล็ก เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ ช่วยรักษามวลกระดูก เพิ่มการไหลเวียนของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง เช่น ชีส ไข่ดิบ เนื้อสัตว์ดิบ อาหารแปรรูป รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารก ส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิด ทารกมีพัฒนาการล่าช้า และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

  • ออกกำลังกาย 

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการเดิน ว่ายน้ำ เล่นโยคะ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย ได้รับแรงกระแทกสูง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่กระทบต่อทารกในครรภ์

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อาจมีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย มีความเครียด วิตกกังวล ดังนั้น จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ โดยปรับท่าทางการนอนที่สบายตัว อาจนอนตะแคงซ้ายเพื่อลดการกดทับหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี หรืออาจนอนหงายโดยใช้หมอนรองหลัง ระหว่างขา และใต้ท้อง เพื่อลดแรงกดทับ

  • งดสูบบุหรี่

บุหรี่มีสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกได้ เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้อาจเข้าสู่กระแสเลือดส่งไปยังทารกในครรภ์ ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต พิการตั้งแต่กำเนิด มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Second Trimester of Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/second-trimester-of-pregnancy. Accessed February 10, 2022  

2nd trimester pregnancy: What to expect. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20047732. Accessed February 10, 2022  

The Second Trimester. https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/the-second-trimester. Accessed February 10, 2022  

The Second Trimester: Your Baby’s Growth and Development in Middle Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/4to6-months. Accessed February 10, 2022  

Working during pregnancy: Do’s and don’ts. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy/art-20047441. Accessed February 10, 2022  

Is it safe to take aspirin during pregnancy?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/aspirin-during-pregnancy/faq-20058167. Accessed February 10, 2022  

Fetal development: The 2nd trimester. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/fetal-development/art-20046151. Accessed February 10, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/05/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แก้ไขอย่างไรได้บ้าง

เลือดออกขณะตั้งครรภ์ อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา