backup og meta

อย.เผย วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง แสนง่าย ป้องกันเชื้อโรคร้ายให้ไกลห่างคุณ

อย.เผย วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง แสนง่าย ป้องกันเชื้อโรคร้ายให้ไกลห่างคุณ

ยังคงเป็นประเด็นให้เห็นกันอยู่ทุกวันถึงข่าวไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก และกำลังแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้พวกเราทุกคนจำเป็นต้องป้องกันสุขภาพร่างกายตนเองเบื้องต้นอย่างเคร่งครัด เช่น การอยู่ให้ไกลจากผู้ที่มีอาการเป็นหวัด มีน้ำมูก จาม ไอ การใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และหมั่นล้างมือด้วยสบู่อย่างสม่ำเสมอ แต่คนเราจะคอยวิ่งเข้าวิ่งออกห้องน้ำทุกนาทีก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องมีตัวช่วยเสริมอย่างเจลล้างมือขนาดพกพา ซึ่งกำลังเป็นที่ขาดแคลนตามท้องตลาดในปัจจุบัน คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. (Food and Drug Administration) จึงออกมาเผย วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง เพื่อให้ประชาชนได้มีเครื่องมือป้องกันเชื้อโรค รวมถึงไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เผย 4 สูตร วิธีทำเจลล้างมือใช้เอง โดยองค์การอาหารและยา

รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม แนะนำวิธีทำเจลล้างมือใช้เอง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ในหลายภาคส่วนกังวลถึงเรื่องการปรับสถานะของเจลล้างมือจากเครื่องสำอางเป็นเครื่องมือแพทย์ อาจส่งผลกระทบทำให้ยิ่งขาดแคลนเจลล้างมือมากขึ้น

ทางอย. จึงได้มีการรับนโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยป้องกันประชาชนจากไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งมีความต้องการอยากให้ประชาชนมีเจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อได้อย่างเพียงพอ และสามารถทำได้ด้วยตนเอง จึงมีการเชิญผู้ประกอบการผลิตเจลล้างมือเข้าร่วมชี้แจงว่า ยังคงให้แอลกอฮอล์มีสถานะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังเดิม แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เงื่อนไข โดยต้องมีปริมาณแอกอฮอล์ 70% ขึ้นไป จึงจะมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำชับให้เร่งการผลิตเจลล้างมืออย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรรีรอเช่นเดียวกัน ทางอย. จึงมีข้อมูลมาแนะนำถึงการทำเจลล้างมือได้ด้วยตัวเอง ทั้ง 4 สูตร ดังนี้

สูตรที่ 1 ดัดแปลงมาจากองค์กรอนามัยโลก

  • นำเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 833.3 มิลลิลิตร
  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ (Hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร
  • กลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร

ผสมส่วนประกอบทั้ง 3 ชนิดข้างต้นให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร จากนั้นเติมน้ำกลั่น หรือน้ำต้มสุกที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเซ็ตตัวแล้ว จนถึงปริมาตรของภาชนะ 1,000 มิลลิลิตร และคนเบาๆ ให้เข้ากันอีกรอบ

สูตรที่ 2 จากองค์การอนามัยโลก

  • นำไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol 75% v/v) 751.5 มิลลิลิตร
  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide 3%) 41.7 มิลลิลิตร
  • กลีเซอรีน (Glycerin 98%) 14.5 มิลลิลิตร

ผสมส่วนประกอบทั้ง 3 ชนิดข้างต้นให้เข้ากันในภาชนะที่มีปริมาตรบอกขนาด 1,000 มิลลิลิตร จากนั้นเติมน้ำกลั่น หรือน้ำต้มสุกที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นแล้ว จนถึงปริมาตรของภาชนะ 1,000 มิลลิลิตร และคนเบาๆ ให้เข้ากัน

สูตรที่ 3 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

  • เท คาโบพอล 940 (Carbopol 940) จำนวน 5 กรัม ลงในน้ำร้อนที่มีปริมาณ 142.75 มิลลิลิตร อย่างเบาๆ คนให้สารละลายจนหมด
  • แล้วเติม เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 350 มิลลิตร คนไปเรื่อยๆ อีกรอบให้เข้ากัน
  • จากนั้นเติมไตรเอทาโนลามีน (Triethanolamine) 1.75 มิลลิลิตร เพื่อปรับความเป็นกรดด่าง
  • เติมกลีเซอรีน (Glycerin) 3 มิลลิลิตร เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว

คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ผลลัพธ์ที่ได้ในขั้นตอนนี้คือ คุณจะได้แอลกอฮอล์เจลในประมาณถึง 500 มิลลิลิตร เลยทีเดียว

สูตรที่ 4 จากคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

  • นำเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol 95% v/v) 75 มิลลิลิตร
  • ผสมกับกลีเซอรีน (Glycerin) 5 มิลลิลิตร และน้ำสะอาด 20 มิลลิลิตร

พร้อมทั้งคนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันอย่างสม่ำเสมอ จึงจะนำมาใช้เป็นเจลใช้กำจัดเชื้อโรคได้

ข้อควรระวัง: การเลือกส่วนผสมและบรรจุภัณฑ์ที่คุณจะนำมาใช้ทำเจลล้างมือด้วยตัวเอง ควรเป็นส่วนผสมและบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการผลิตอย่างมีมาตรฐาน ถูกสุขลักษณะอนามัย และสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในการทำเจลล้างมือ คือ การปรับเปลี่ยนหรือดัดแปลงสูตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งอัตราส่วนของส่วนผสมที่คงที่ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เพื่อให้ได้เป็นเจลล้างมือที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคและปลอดภัยต่อการใช้งาน

เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมืออย่างไร ให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน

เช็กฉลากผลิตภัณฑ์

  1. เช็กฉลากข้างผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ ควรมีฉลากภาษาไทย ที่ระบุชื่อของส่วนผสม วิธีใช้ และชื้อผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า พร้อมวันเดือนปีในวันที่เริ่มผลิต ติดอยู่
  2. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลล้างมือที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิท ป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์ระเหยออก เจลล้างมือที่ดีควรมีความหนืดเหนียวในระดับที่เหมาะสม แต่ก็ไม่ถึงกับเหนอะหนะจนเกินไป สามารถคงอยู่ในอุ้งมือเมื่อเทใส่ ไม่เกิดการแยกชั้น
  3. ระวังผลิตภัณฑ์หมดอายุ สังเกตได้จากการใช้ฝ่ามือสัมผัสไม่รู้สึกถึงความเย็นการระเหยของแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งมีสีเปลี่ยนแปลงไป ตกตะกอน จับตัวเป็นก้อน

วิธีการใช้เจลล้างมือ และข้อควรระวัง

  1. ทดสอบอาการว่าคุณแพ้เจลล้างมือหรือไม่ โดยการทดลองทาเจลล้างมือในปริมาณเล็กน้อย บีบลงบริเวณใต้ท้องแขน ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หากมีผื่นแดงขึ้น ปวดแสบปวดร้อน บวม ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ทันที
  2. หยดเจลล้างมือ ถูให้ทั่วประมาณ 20 วินาที และปล่อยแห้งตามอากาศ
  3. เก็บเจลล้างมือในภาชนะที่ปิดสนิท หลีกเลี่ยงการตั้งวางที่ที่แสงแดดส่องถึง เพราะอาจทำให้แอลกอฮอล์เกิดการระเหย เจือจางจนประสิทธิภาพลดลง

เนื่องจากเจลล้างมือ มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เป็นหลัก อาจทำให้เกิดการติดไฟได้ง่าย โดยเฉพาะอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ ควรระวังเป็นพิเศษ นอกจากนั้นไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับเด็กทารก หรือบริเวณผิวบอบบาง เช่น รอบดวงตา ผิวอักเสบ ผิวหนังที่มีบาดแผล และสิว

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Guide to Local Production: WHO-recommended Handrub Formulations https://www.who.int/gpsc/5may/Guide_to_Local_Production.pdf

อย. ย้ำเจลล้างมือยังคงเป็นเครื่องสำอางแต่ปริมาณแอลกอฮอล์ต้องถึง 70% แนะสูตรเจลทำเองได้  https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/139493 Accessed March 11, 2020

ผลิตภัณฑ์เจลล้างมือ http://e-library.dmsc.moph.go.th/ebooks/files/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD.pdf  Accessed March 09, 2020

อย. ฉีกประกาศ“ เจลล้างมือ” เครื่องมือแพทย์กลับมาเป็น“ เครื่องสำอาง” แก้ปัญหาสินค้าขาดเงิน https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000022292  Accessed March 09, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ล้างมือด้วยเจลล้างมือ พกพาง่าย ห่างไกลเชื้อโรค

ห่างไกลจากเชื้อโรคต่างๆ รอบตัว ด้วย การล้างมือ อย่างถูกต้อง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา