backup og meta

5 พฤติกรรมเสี่ยงอาหารเป็นพิษ ที่คุณควรหลีกเลี่ยง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/01/2021

    5 พฤติกรรมเสี่ยงอาหารเป็นพิษ ที่คุณควรหลีกเลี่ยง

    ปัญหาอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน เนื่องจากอาหารเป็นพิษ นอกจากจะทำให้คุณต้องทรมานกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ยังอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ด้วย วันนี้ Hello คุณหมอจึงอยากแนะนำ 5 พฤติกรรมเสี่ยงอาหารเป็นพิษ ที่คุณควรหลีกเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

    5 พฤติกรรมเสี่ยงอาหารเป็นพิษ ที่ควรระวัง

    1. เสี่ยงอาหารเป็นพิษ เพราะไม่ล้างมือก่อนกินข้าว

    การไม่ล้างมือก่อนกินข้าว เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ ในระหว่างวัน มือของคุณสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำให้มีเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ติดมากับมือของคุณมากมาย เมื่อคุณสัมผัสกับอาหารโดยไม่ได้ล้างมือให้ดีก่อน เชื้อโรคเหล่านั้นก็อาจปนเปื้อนในอาหาร และเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิด ภาวะอาหารเป็นพิษ ได้

    สิ่งที่คุณควรทำคือ ล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนช่วงการเตรียมวัตถุดิบ ช่วงทำอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร โดยล้างมือด้วยสบู่ให้ทั่วทั้งฝ่ามือ ซอกเล็บ และบริเวณรอบข้อมือ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที นอกจากนี้ คุณควรล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำและสัมผัสกับสิ่งสกปรกด้วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

    2. ทำความสะอาดวัตถุดิบผิดวิธี

    เวลาที่คุณซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ มาจากตลาด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบจำพวกผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ ก็ควรนำมาทำความสะอาดอีกรอบ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรก เช่น เศษดิน เศษทราย ยาฆ่าแมลง ออกไปให้หมด แต่ก็ต้องทำความสะอาดให้ถูกวิธีด้วย เพราะหากทำความสะอาดวัตถุดิบผิดวิธี ก็อาจทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นยังคงปนเปื้อน และส่งผลให้เกิด ภาวะอาหารเป็นพิษ ได้เมื่อรับประทานเข้าไปได้

    สำหรับผักและผลไม้ ควรล้างให้สะอาด โดยแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 15 นาที แล้วล้างแบบให้น้ำไหลผ่านอีกครั้ง หรืออาจแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเบกกิ้งโซดา (Baking Soda) ครึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ลิตร ประมาณ 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำไหลผ่าน

    สำหรับเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ และไข่ไก่ ไม่ควรล้างน้ำ แต่ให้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนแทน เพราะการล้างน้ำ อาจทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) กระจายไปทั่วบริเวณได้

    3. ปรุงอาหารไม่สุก

    การรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อไก่ หรืออาหารทะเลบางชนิด อาจทำให้ร่างกายได้รับเชื้อที่เป็นอันตราย และเกิด ภาวะอาหารเป็นพิษ หรือมีพยาธิได้ ดังนั้น คุณจึงควรรับประทานอาหารที่มั่นใจว่าปรุงสุก สะอาด และสดใหม่เท่านั้น

    4. ไม่แยกเขียง

    ตามปกติแล้ว คุณควรแยกเขียงที่ใช้สำหรับหั่นผักผลไม้กับเขียงสำหรับหั่นเนื้อสดให้ออกจากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคและพยาธิจากเนื้อสด เข้าไปปนเปื้อนกับผักผลไม้ที่อาจจะไม่ได้ผ่านความร้อนก่อนรับประทาน แต่หากไม่สะดวกที่จะแยกเขียงผักและเขียงเนื้อ ก็ควรล้างทำความสะอาดเขียงหลังจากหั่นเนื้อสดทุกครั้ง ก่อนจะหั่นวัตุดิบอื่น ๆ บนเขียงนั้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด ภาวะอาหารเป็นพิษ

    5. กินอาหารค้างคืน

    เวลารับประทานอาหารไม่หมด คนส่วนใหญ่มักจะเก็บแช่อาหารที่เหลือไว้ในตู้เย็น เพื่อมากินต่อในวันถัดไป แต่อาหารค้างคืนเหล่านี้อาจเสี่ยงบูดเน่า หรือมีเชื้อโรคเจริญเติบโตในระหว่างที่แช่อยู่ในตู้เย็น หากกินเข้าไปอาจเกิด ภาวะอาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ อาหารบางชนิด เช่น อาหารที่ใส่กะทิ ก็อาจไม่เหมาะที่จะเก็บค้างคืนไว้กินต่อในภายหลัง เพราะเป็นอาหารที่เสียง่าย ดังนั้น หากต้องการรับประทานอาหารค้างคืน ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่าอาหารนั้นยังไม่บูด และนำกลับมาอุ่นให้ความร้อนเพื่อกำจัดเชื้อโรคก่อนรับประทาน หรือทางที่ดีที่สุด คือควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น จะได้ไม่ เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 29/01/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา