backup og meta

ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร

ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร
ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ และอาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร

หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ และต้องการทราบว่า ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ โดยทั่วไปแล้วอาการติดเชื้อ HIV จะเกิดขึ้นหลังรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย 2-4 สัปดาห์ จากนั้นเชื้อจะอาศัยอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานประมาณ 10 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน จะทำให้การติดเชื้อเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนเสียหายรุนแรง และเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่รักษาค่อนข้างยาก

[embed-health-tool-bmi]

เชื้อ HIV คืออะไร

เชื้อเอชไอวี หรือฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยการโจมตีและทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4 cells) หรือทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเสียหายและลดปริมาณลง จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอและเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV อาจมีดังนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์หรือใช้เข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนั​​กหรือช่องคลอดโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะกับคู่นอนหลายคนและคู่นอนที่ไม่ทราบประวัติการมีเพศสัมพันธ์
  • การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน
  • การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคหูดหงอนไก่
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV ซึ่งอาจแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และเมื่อให้นม
  • การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันขณะใช้สารเสพติด

ติดเชื้อ HIV กี่ ปี ออก อาการ

การติดเชื้อ HIV จะเริ่มแสดงอาการภายใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ แต่ผู้ติดเชื้ออาจไม่สังเกตหรือตระหนักว่าเป็นอาการของการติดเชื้อ HIV เนื่องจากเป็นอาการที่คล้ายกับการติดเชื้อไข้หวัดทั่วไป โดยทั่วไป อาการของการติดเชื้อ HIV จะแสดงออกอย่างเด่นชัดก็ต่อเมื่อการติดเชื้อลุกลามไปจนถึงระยะที่ 3 หรือที่เรียกว่าระยะโรคเอดส์ (AIDs) แล้ว เมื่อไม่ได้รับประทานยาต้านไวรัสเป็นเวลาหลายปี เชื้อไวรัสจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง ซึ่งอาจใช้เวลาเป็น 10 ปี ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ

ทั้งนี้ ระยะโรคเอดส์อาจเกิดขึ้นได้ช้ากว่านั้นมากและผู้ติดเชื้อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้ หากรับประทานยาต้านไวรัสติดต่อกันทุกวันและดูแลสุขภาพอย่างดี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรไปตรวจหาเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ หากสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ เพื่อที่จะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น การรับประทานยาต้านไวรัสตั้งแต่ติดเชื้อในระยะแรกจะช่วยป้องกันการพัฒนาของโรค ลดความเสียหายของร่างกายที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคติดเชื้อฉวยโอกาส

อาการของการติดเชื้อ HIV

อาการของการติดเชื้อ HIV อาจแบ่งได้ตามระยะของการติดเชื้อ ดังนี้

  • ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) เป็นระยะที่มีเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดในปริมาณมาก จึงแพร่เชื้อได้ง่ายที่สุด เกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้ออาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ เจ็บคอ มีแผลในปาก หนาวสั่น ผื่นขึ้น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหงื่อออกตอนกลางคืน ต่อมน้ำเหลืองบวม อ่อนเพลีย แต่บางคนก็อาจไม่มีอาการเลย
  • ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) เป็นระยะที่มักไม่แสดงอาการ แต่บางคนก็อาจมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีตุ่มขึ้นตามร่างกาย มีเชื้อราในช่องปาก เป็นโรคงูสวัด ระยะนี้เป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายในร่างกายแล้ว แต่แพร่พันธุ์ในระดับที่ต่ำมาก และเป็นระยะที่กินเวลานานประมาณ 10 ปี หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกทำลายจนเข้าสู่โรคเอดส์ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ บางคนอาจเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีหลังจากติดเชื้อ แต่สำหรับผู้ที่รับประทานยาต้านไวรัสเป็นประจำทุกวัน ก็อาจไม่เข้าสู่ระยะโรคเอดส์เลยตลอดชีวิต
  • ระยะเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์เมื่อจำนวนเซลล์ CD4 ลดลงต่ำกว่า 200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิลิตร หรือเมื่อเริ่มเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infections หรือ OIs) เช่น โรคเริม โรคติดเชื้อแคนดิดา (Candida infection) โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) โรคติดเชื้อในทางเดินอาหารจากเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) และอาจมีอาการผิดปกติ เช่น เหนื่อยตลอดเวลา ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือขาหนีบบวม เป็นไข้ครั้งละนาน ๆ น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่อิ่ม ท้องเสียเรื้อรัง มีอาการทางระบบประสาทอย่างการหลงลืม สับสน ชัก พฤติกรรมเปลี่ยนไป มีปัญหาการทรงตัว สายตาแย่ลง ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีปริมาณเชื้อไวรัสสูงและสามารถแพร่เชื้อได้ง่าย หากไม่ได้รับการรักษาเลย โดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 ปี

การรักษาเมื่อติดเชื้อ HIV

การติดเชื้อ HIV ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรับประทานยาต้านไวรัสหลายชนิดรวมกัน (Antiretroviral therapy หรือ ART) เป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาตั้งแต่ติดเชื้อระยะแรก ยาต้านไวรัสจะออกฤทธิ์ลดปริมาณไวรัสในร่างกาย จนบางครั้งก็อาจลดลงจนไม่สามารถตรวจจับได้ เมื่อไวรัสลดลงจนตรวจไม่พบก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง หากหยุดรักษาจะทำให้ปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ตามเดิม

นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อควรหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดบุหรี่และใช้ยาเสพติด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพและการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HIV อาจทำได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยควรใช้ถุงยาง 1 ชิ้นไม่เกิน 30 นาทีและเปลี่ยนใหม่เมื่อครบเวลา
  • จำกัดจำนวนคู่นอน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV
  • ผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศกับคู่นอนมากกว่า 1 คน ควรไปตรวจ HIV เป็นประจำและควรให้คู่นอนตรวจด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่มีเพศสัมพันธ์ในขณะมึนเมาสุราหรือยาเสพติด

การติดเชื้อ HIV เป็นภาวะที่ไม่ควรละเลย

หากมีอาการผิดปกติหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV หรือสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาเชื้อทันที หากพบว่าติดเชื้อ จะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นและช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Living With HIV. https://www.cdc.gov/hiv/basics/livingwithhiv/healthy-living.html. Accessed March 3, 2023

HIV. https://medlineplus.gov/hiv.html. Accessed March 3, 2023

What is HIV?. https://www.cdc.gov/hiv/basics/syndication-test.html. Accessed March 3, 2023

HIV Symptoms. https://www.webmd.com/hiv-aids/understanding-aids-hiv-symptoms. Accessed March 3, 2023

HIV/AIDS. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/diagnosis-treatment/drc-20373531. Accessed March 3, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/03/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เอดส์ อาการ เริ่มต้น เป็นอย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร

อาการโรคเอดส์ สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา