คุณผู้อ่านหลายท่าน คงประสบกับอาการชาที่มือและเท้ากันมาบ้าง ซึ่งอาการชาที่มือและเท้าโดยทั่วไปก็มักจะเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วครู่ชั่วคราว ไม่นานก็หายไป แต่ถ้าคุณมีอาการชาที่มือและเท้าบ่อย ๆ หรือรู้สึกชาตามมือและเท้าเป็นประจำ อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อโรคเหน็บชา แต่ โรคเหน็บชา คืออะไร วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโรคเหน็บชามาฝากค่ะ
โรคเหน็บชา คืออะไร
โรคเหน็บชา (Beriberi) เป็นปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการขาดแคลนสารอาหารชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ไทอามีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 (Vitamin B1) ซึ่งเป็นสารอาหารที่ทำหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย คือ
- สลายคาร์โบไฮเดรต
- ช่วยในการหกตัวของกล้ามเนื้อ
- กระตุ้นกระบวนการนำความรู้สึกของเซลล์ประสาท
- ผลิตกลูโคส (Glucose)
- ผลิตกรดสำหรับใช้ในการย่อยอาหาร
วิตามินบี 1 นั้นจะถูกสลายในร่างกายภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะขาดแคลนวิตามินบี 1 นั้น วิตามินบี 1 จะถูกสลายออกไปจากร่างกายภายในระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์เท่านั้น
โรคเหน็บชามีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่
- เหน็บชาชนิดผอมแห้ง (Dry beriberi) เป็นโรคเหน็บชาที่มีผลต่อระบบประสาท เสี่ยงที่จะทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย ผู้ป่วยมีรูปร่างผอมแห้ง กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต โรคเหน็บชาประเภทนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
- เหน็บชาชนิดเปียก (Wet beriberi) เป็นโรคเหน็บชาที่มีผลต่อสุขภาพหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยจะมีอาการบวม และหากมีอาการรุนแรง อาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
อาการของ โรคเหน็บชา เป็นอย่างไร
อาการของโรคเหน็บชา จะแตกต่างกันไปดังนี้
อาการเหน็บชาชนิดผอมแห้ง (Dry beriberi)
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะช่วงขา
- มีอาการชาตามมือและเท้า
- เจ็บปวดตามร่างกาย
- สภาวะจิตใจสับสน
- พูดลำบาก พูดไม่ค่อยไหว
- เดินลำบาก เดินไม่ค่อยไหว
- อาเจียน
- ดวงตาเคลื่อนไหวเองโดยอัตโนมัติ
- อัมพาต
อาการเหน็บชาชนิดเปียก (Wet beriberi)
- อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- รู้สึกอ่อนแรง อ่อนเพลีย
- หายใจถี่และสั้น
- มักตื่นนอนกลางดึก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการหายใจ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการหายใจถี่และสั้น
- มีอาการบวมที่ขาและเท้า
สาเหตุของโรคเหน็บชา
โรคเหน็บชา เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะการขาดแคลนไทอามีนหรือ วิตามินบี 1 เป็นอาการทางสุขภาพที่พบได้น้อยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารการกิน แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา มักจะพบผู้ป่วยโรคเหน็บชาได้มาก
มากไปกว่านั้น ผู้ที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือดื่มแอลกอฮอล์เกินพิกัด ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเหน็บชา เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินบี 1 ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ จนเป็นโรคเหน็บชา
ทารกก็เป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนวิตามินบี 1 และเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหน็บชา หากไม่ได้รับนมแม่ หรือดื่มนมที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 อย่างเพียงพอ ดังนั้น ช่วงเวลาตั้งครรภ์ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่ควรจะใส่ใจกับอาหารการกินให้มาก ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งแม่และเด็กประสบกับภาวะขาดแคลนสารอาหาร
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจมีแนวโน้มจะเป็นโรคเหน็บชา ได้แก่
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคเอดส์
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลดความอ้วน
- ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเหน็บชา
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการฟอกไต
- ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเหน็บชา
กระบวนการตรวจวินิจฉัยหาโรคเหน็บชานั้น สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- แพทย์จะทำการตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อตรวจวัดระดับของวิตามินบี 1 ในเลือด
- แพทย์อาจทำการตรวจหาความเสียหายที่ระบบประสาทหรือหัวใจ
- แพทย์อาจวินิจฉัยจากอาการที่ผู้ป่วยแสดงออกให้เห็น เช่น มีความยากลำบากในการยืน การเดิน การทรงตัว กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หรือการตอบสนองที่เชื่องช้าและอ่อนแอ
- แพทย์อาจทำการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจดูอาการบวมที่แขนและขา
วิธีรักษาโรคเหน็บชา
หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเหน็บชา แพทย์จะทำการรักษาด้วยการแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยา วิตามิน หรืออาหารเสริมวิตามินบี 1 เพื่อเสริมให้ร่างกายมีระดับของวิตามินบี 1 ที่เพียงพอ และระหว่างทำการรักษา แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับวิตามินบี 1 เป็นระยะ เพื่อดูว่าร่างกายมีระดับของวิตามินบี 1 อยู่ในขั้นต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ หากยังต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาและอาหารเสริมวิตามินบี 1 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งระดับของวิตามินบี 1 อยู่ในระดับที่เพียงพอ และอาการของโรคเหน็บชาค่อย ๆ ดีขึ้น
วิธีป้องกันโรคเหน็บชา
วิธีป้องกันโรคเหน็บชาที่ง่ายที่สุดก็คือ ใส่ใจกับการรับประทานอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้วิตามินบี 1 ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น
- เนื้อสัตว์ต่าง ๆ
- ปลา
- ถั่วและธัญพืชต่าง ๆ
- อาหารทะเล
- ผลิตภัณฑ์จากนม
- อาหารประเภทแป้ง เช่น ขนมปัง ซีเรียล
แต่นอกจากจะต้องรับประทานอาหารที่ให้วิตามินบี 1 สูงแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานอาหารให้หลากหลาย รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันให้ร่างกายห่างไกลจากภาวะขาดแคลนสารอาหารอื่น ๆ
[embed-health-tool-bmi]