backup og meta

ประโยชน์ของฟักทอง ที่รู้แล้วจะทำให้คุณอยากกินฟักทองให้เยอะขึ้น!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    ประโยชน์ของฟักทอง ที่รู้แล้วจะทำให้คุณอยากกินฟักทองให้เยอะขึ้น!

    ฟักทอง เป็นพืชที่นำมาปรุงได้หลายเมนูทั้งของคาวและของหวาน แถมยังเป็นอาหารที่มีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย แคลอรี่ก็ต่ำ เรียกว่าเป็นผลไม้ที่ไม่ควรมองข้าม ถ้าอยากรู้ว่ากินฟักทองแล้วดีอย่างไร ทำไมต้องรีบไปหาฟักทองมากิน Hello คุณหมอ มี ประโยชน์ของฟักทอง มาฝากแล้ว

    ประโยชน์ของฟักทอง

    1. ฟักทองทำให้ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น

    ฟักทองมีวิตามินเอสูง ซึ่งดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยงานวิจัยชี้ว่า วิตามินเอสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น และช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ ในทางกลับกัน ผู้ที่ขาดวิตามินเออาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้

    นอกจากวิตามินเอแล้ว ฟักทองยังมีวิตามินซีที่ดีต่อระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน โดยฟักทอง 1 ถ้วย (245 กรัม) มีวิตามินซี 19% ของปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ซึ่งงานวิจัยชี้ว่า วิตามินซีสามารถช่วยเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว และช่วยให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้แผลหายไวขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ฟักทองยังมีวิตามินอี ธาตุเหล็ก และโฟเลต ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานระบบภูมิคุ้มกันด้วยเช่นกัน

    2. ฟักทองทำให้สายตาดีขึ้น

    งานวิจัยชี้ว่า การขาดวิตามินเอเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของภาวะสูญเสียการมองเห็น รวมถึงวิตามินซีและวิตามินอี ก็มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยป้องกันเซลล์ดวงตาไม่ให้เกิดความเสียหายจากอนุมูลอิสระ ซึ่งวิตามินทั้งหมดนี้ล้วนพบได้ในฟักทอง นอกจากนี้ ฟักทองยังอุดมไปด้วยลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคต้อและโรคจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากอายุ (Age-related macular degeneration)

    3. ฟักทองดีต่อการลดน้ำหนัก

    ฟักทอง 1 ถ้วย (245 กรัม) ให้พลังงานเพียง 50 กิโลแคลอรี และมีน้ำประมาณ 94% ฟักทองจึงจัดเป็นอาหารที่เหมาะกับการลดน้ำหนัก เนื่องจากคุณสามารถกินฟักทองได้ในปริมาณที่มากกว่าคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น ข้าว มันฝรั่ง โดยได้รับปริมาณแคลอรีน้อยกว่า นอกจากนี้ ฟักทองยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่จะช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการลดน้ำหนัก

    4. ฟักทองอาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้

    ฟักทองอุดมด้วยแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่สามารถช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิดได้ จากการวิเคราะห์งานวิจัย 13 ชิ้นพบว่า ผู้ที่กินอัลฟาแคโรทีน และเบต้าแคโรทีนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่กินแคโรทีนอยด์มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งเต้านม น้อยกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันว่า ความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่ลดลงนี้ เป็นเพราะแคโรทีนอยด์เพียงอย่างเดียว หรือเพราะมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น นิสัยการใช้ชีวิตของผู้ที่กินอาหารที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์

    5. ฟักทองทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง

    ฟักทองมีโพแทสเซียม วิตามินซี และไฟเบอร์สูง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ล้วนดีต่อสุขภาพหัวใจทั้งสิ้น โดยงานวิจัยชี้ว่า ผู้ที่กินโพแทสเซียมมาก จะมีความดันโลหิตลดลง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ในฟักทองยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันไขมันแอลดีแอล (LDL cholesterol) หรือไขมันเลว ซึ่งส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

    6. ฟักทองทำให้สุขภาพผิวดีขึ้น

    ฟักทองอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อผิว เช่น แคโรทีนอยด์อย่างเบต้า-แคโรทีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นครีมกันแดดตามธรรมชาติได้ เนื่องจากแคโรทีนอยด์สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์ผิวเสียหายจากแสงยูวีที่เป็นอันตราย อีกทั้งฟักทองยังมีวิตามินซีสูง ซึ่งจำเป็นต่อผิว เนื่องจากร่างกายใช้วิตามินซีเพื่อสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่จะทำให้ผิวแข็งแรงและสุขภาพดี นอกจากนี้สารอาหารอย่างลูทีน (Lutein) ซีแซนทิน (Zeaxanthin) และวิตามินอีในฟักทอง ก็ยังช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีและทำให้สุขภาพผิวแข็งแรงด้วย

    ข้อควรระวัง

  • การกินฟักทองมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาที่คล้ายกับการกินยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่กินยาบางชนิด เช่น ยาลิเทียม โดยการขับปัสสาวะอาจทำให้ความสามารถในการขจัดลิเทียมของร่างกายลดลง อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
  • อาการแพ้ฟักทอง เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่แพ้ฟักทองอาจมีอาการจะเกิดขึ้นหลังจากกินฟักทอง ได้แก่ คันบริเวณตา จาม หนังตาบวม และแน่นหน้าอก
  • Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา