backup og meta

สูตรซอสมะเขือเทศโฮมเมด

สูตรซอสมะเขือเทศโฮมเมด

ซอสมะเขือเทศ จัดเป็นเครื่องปรุงรสอีกหนึ่งชนิดที่ต้องมีติดบ้านไว้กันแทบทุกบ้าน เพราะจะใช้ประกอบอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องจิ้มก็ได้ ยิ่งกินกับของทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์ ไข่ดาว ก็ยิ่งอร่อยสุด ๆ แต่คุณรู้ไหมว่า ซอสมะเขือเทศที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดนั้น บางยี่ห้อก็มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมค่อนข้างสูง อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ วันนี้ Hello คุณหมอ เลยมี สูตรซอสมะเขือเทศโฮมเมด มาฝาก รับรองว่าคุณจะได้ประโยชน์จากมะเขือเทศเต็ม ๆ แถมยังควบคุมรสชาติได้ตามที่ต้องการ ที่สำคัญ ดีต่อสุขภาพด้วย

สูตรซอสมะเขือเทศโฮมเมด

ส่วนผสมสำหรับ ซอสมะเขือเทศโฮมเมด

(สำหรับซอสมะเขือเทศประมาณ 250 ซีซี)

มะเขือเทศสดลูกใหญ่ 500 กรัม
หอมใหญ่สับ 1 หัว
เกลือ 1 ช้อนชา
น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
แครอทสับ 100 กรัม
กระเทียมสับ 1 กลีบ
ใบกระวาน 1-2 ใบ
พริกไทย ¼ ช้อนชา

วิธีทำ ซอสมะเขือเทศโฮมเมด

  1. บากส่วนท้ายของมะเขือเทศเป็นรูปกากบาทแล้วนำไปต้มน้ำร้อนจนสุก จากนั้นลอกเปลือกออก หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วแคะเมล็ดออก
  2. ต้มมะเขือเทศ หอมใหญ่ แครอท กระเทียม และใบกระวานให้เปื่อย คอยระวังอย่าให้น้ำแห้ง
  3. ยกลงจากเตา พักไว้ให้เย็น จากนั้นนำไปปั่นให้ละเอียด ถ้าเนื้อข้นมากจนปั่นยากให้ค่อย ๆ เติมน้ำเปล่า
  4. นำน้ำมะเขือเทศมากรองในกระชอน แล้วใช้ช้อนหรือทัพพีค่อย ๆ กดให้เนื้อซอสไหลลงไปในภาชนะรอง
  5. ปรุงรสด้วยน้ำผึ้ง เกลือ น้ำมะนาว และพริกไทย ชิมรสตามชอบ
  6. นำน้ำมะเขือเทศที่กรองแล้วไปเคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนอีกประมาณ 30 นาที จนเนื้อเริ่มเข้มข้นเป็นซอสมะเขือเทศ
  7. ตักใส่ขวดตอนยังร้อน ๆ แล้วปิดฝาให้สนิท เก็บไว้ในตู้เย็น จะอยู่ได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์

สำหรับส่วนผสมอื่น ๆ เช่น แครอทสับ กระเทียมสับ ใครจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ตามใจชอบเลย แต่ถ้าใส่ก็จะช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติให้กับซอสมะเขือเทศของคุณ ทำให้ยิ่งอร่อยชวนกินเข้าไปอีก แถมคุณยังจะได้สารอาหารเพิ่มเติมด้วยนะ

ซอสมะเขือเทศ แหล่ง “ไลโคปีน”

ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่พบได้ในผลไม้สีแดงและชมพู เช่น แตงโม เกรปฟรุต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมะเขือเทศ สารประกอบชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นในการต้านอนุมูลอิสระ โดยงานศึกษาวิจัยชี้ว่า ไลโคปีนช่วยให้ระดับอนุมูลอิสระในร่างกายของเราสมดุล จึงส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ ลดลงได้

นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยในสัตว์และในหลอดทดลองหลายชิ้นยังพบว่า ไลโคปีนอาจช่วยปกป้องร่างกาย ไม่ให้ถูกทำลายโดยสารเคมีกำจัดวัชพืช ยาฆ่าแมลง โมโนโซเดียมกลูตาเมต หรือผงชูรส และเชื้อราบางชนิดได้ด้วย

ไม่ใช่แค่นั้น เพราะไลโคปีนยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น

  • อาจช่วยป้องกันและชะลอการเกิดต้อกระจก รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะตาบอดในผู้สูงอายุได้
  • อาจช่วยบรรเทาภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาท (Neuropathic Pain) ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทและเนื้อเยื่อบาดเจ็บหรือถูกทำลาย
  • อาจช่วยป้องกันภาวะผิวไหม้แดด และช่วยไม่ให้ผิวถูกแสงแดดทำลาย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า แค่บริโภคอาหารที่มีไลโคปีน เช่น ซอสมะเขือเทศ มะเขือเทศสด ยังไม่พอ คุณต้องทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันด้วย โดยเฉพาะเวลาออกแดด หรือต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สูตรซอสมะเขือเทศโฮมเมด

แม้เราจะหาไลโคปีนได้จากทั้งมะเขือเทศสด และมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เผยว่า ร่างกายจะสามารถดูดซึมไลโคปีนในมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกแล้วได้ดีกว่าในมะเขือเทศดิบ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศอย่างซอสมะเขือเทศ จึงถือเป็นแหล่งไลโคปีนที่คุณไม่ควรมองข้าม ยิ่งหากเป็นซอสมะเขือเทศโฮมเมดสูตรที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพของคุณมากขึ้นไปอีก

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tomato lycopene and its role in human health and chronic diseases. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC80172/. Accessed September 14, 2020

Lycopene: Health Benefits and Top Food Sources. https://www.healthline.com/nutrition/lycopene#food-sources. Accessed September 14, 2020

ซอสมะเขือเทศ โฮมเมด. https://www.easycookingmenu.com/index.php/clean-food/tomato-sauce. Accessed September 14, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/09/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารที่มีโซเดียมสูงมาก อาจเป็นอาหารที่คุณกินอยู่ทุกวัน

ประโยชน์ของมะเขือเทศต่อการบำรุงผิว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 18/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา