ขิง เป็นพืชสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อน และมีสารอาหารมากมาย เช่น แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม วิตามินบี ที่อาจให้ประโยชน์กับร่างกาย ช่วยลดคอเลสเตอรอล บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาอาการคลื่นไส้ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานขิงสดได้ อาจนำขิงมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น หรือสำหรับนำมารับประทานกับเต้าฮวย บัวลอย โดยสามารถศึกษา วิธีต้มน้ำขิง ง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง
[embed-health-tool-bmi]
ขิง มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร
ขิงมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของขิงในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ขิงมีสารอาหารมากมาย เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ที่มีคุณสมบัติช่วยควบคุมการทำงานอวัยวะส่วนต่าง ๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้
จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Pharmaceutical Research ปี พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับผลของการรับประทานขิงต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1c) อะโพลิโพโปรตีน บี (Apolipoprotein B) อะโพลิโพโปรตีน เอ 1 (Apolipoprotein A-I) และ มาลอนไดดีไฮด์ (Malondialdehyde) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีหน้าที่ลำเลียงน้ำและไขมันส่งไปทั่วทั้งร่างกายและเป็นตัวบ่งชี้ภาวะเครียดที่้เกิดจากออกซิเดชั่น (Oxidative stress) และระดับของน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ผู้ป่วยเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 41 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานขิงในรูปแบบอาหารเสริม 2 กรัม/วัน จำนวน 22 คน และกลุ่มที่รับประทานยาหลอกจำนวน 19 คน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจเลือดหลังอดอาหาร พบว่า การรับประทานขิงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อีกทั้งยังอาจช่วยลดปริมาณ อะโพลิโพโปรตีน บี ซึ่งที่เป็นโปรตีนช่วยลำเลียงไขมันและคอเลสเตอรอลไปทั่วร่างกาย หากมีปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ไขมันและคอเลสเตอรอลสะสมในหลอดเลือด ก่อให้เกิดคราบจุลินทรีย์ที่ทำให้หลอดเลือดตีบตันได้
-
อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
ขิงมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกาย ที่อาจช่วยบรรเทาอาการความเจ็บปวดต่าง ๆ เช่น ปวดข้อ กล้ามเนื้อ ปวดท้องประจำเดือน จากการศึกษาในวารสาร Phytotherapy Research ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของขิงต่อการลดความเจ็บปวด พบว่า ขิงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งการถอดรหัสของ NF-KB ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาวานิลลอยด์ โนซิเซ็ปเตอร์ (Vanilloid nociceptor) ซึ่งเป็นตัวรับความรู้สึกทำให้เกิดความเจ็บปวด อย่างไรก็ตามการดื่มน้ำขิงเพื่อลดความเจ็บปวดนั้นอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมเพื่อรักษาความเจ็บปวดในระยะยาว
-
อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้
ขิงอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ที่เกิดจากการเมารถ หลังผ่าตัด หลังทำเคมีบำบัด และจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ จากการศึกษาในวารสาร Current Opinion in Supportive and Palliative Care ปี พ.ศ. 2558 ที่ศึกษาว่าขิงมีประโยชน์ในการลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนหรือไม่ โดยนักวิจัยได้ศึกษาบทความ 9 ฉบับ และบทวิจารณ์ 7 ฉบับ ที่มีการทดลองใช้ขิงเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้จากการแพ้ท้องและหลังการผ่าตัด พบว่า ขิงอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับการใช้ขิงเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้
-
อาจช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย
ขิงมีสารฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหารได้ การศึกษาในวารสาร World Journal of Gastroenterology ปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของขิงต่อการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและอาการอาหารไม่ย่อย โดยให้ผู้ป่วย 11 ราย ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย รับประทานแคปซูลที่มีส่วนประกอบของขิงทั้งหมด 1.2 กรัม จำนวน 3 แคปซูลตามด้วยซุปข้าวโพด 500 มิลลิลิตร หลังจาก 1 ชั่วโมง นักวิจัยทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจเช็กสุขภาพภายในช่องท้อง พบว่า ขิงช่วยกระตุ้นการหดตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจช่วยในการย่อยอาหาร ลดความเสี่ยงการเกิดอาการท้องอืดและแน่นท้องได้
วิธีต้มน้ำขิง
วิธีต้มน้ำขิงด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้
วัตถุดิบ
- ขิงสดขูด 1.5 ช้อนชา
- น้ำสะอาด 4 ถ้วย
- ที่กรอง
- หม้อ
วิธีทำ
- ใส่น้ำสะอาดในหม้อและใส่ขิงสดขูดที่เตรียมไว้ลงไป จากนั้นเปิดไฟและรอจนกว่าน้ำจะเดือด
- เมื่อน้ำเดือดให้ปิดไฟและรอจนกว่าน้ำจะอุ่นประมาณ 5-10 นาที โดยสังเกตได้จากกากขิงลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ
- ใช้ที่กรองเพื่อแยกขิงออกจากน้ำ
- ใส่แก้วดื่มได้ทันที หรือหากต้องการเก็บไว้บริโภคภายหลังควรรอให้น้ำขิงเย็นตัวลงก่อนแล้วจึงใส่ภาชนะเพื่อเก็บไว้ในตู้เย็น
บางคนอาจไม่ชอบรสชาติหรือกลิ่นขิงที่เข้มข้น ก็สามารถปรุงน้ำขิงด้วยน้ำผึ้งหรือมะนาว เพื่อให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้น
ข้อควรระวังในการดื่มน้ำขิง
ควรดื่มน้ำขิงในปริมาณที่เหมาะสม โดยจำกัดปริมาณขิงที่นำมาสกัดเป็นเครื่องดื่ม ไม่ควรเกิน 5 กรัม/วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร จุกเสียดท้อง ท้องเสีย ระคายเคืองในช่องปาก ผื่นขึ้นหรือลมพิษ
นอกจากนี้ ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำขิงและการรับประทานขิงในรูปแบบอาหารเสริม เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดได้
อีกทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยังควรระมัดระวังการรับประทานขิง รวมถึงขิงในรูปแบบเครื่องดื่มและอาหารเสริม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลิน เพื่อความปลอดภัยจึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนรับประทาน