ปัจจุบันการเพาะเมล็ดพืชเพื่อนำมารับประทานนั้นมีความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากเมล็ดถั่วเขียว ที่นำมาเพาะเพื่อให้ได้ถั่วงอกแล้ว ยังมีเมล็ดพืชอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เมล็ดทานตะวัน ถั่วลูกไก่ ถั่วเหลือง ซึ่งการรับประทาน เมล็ดพืชเพาะงอก หรือ ต้นอ่อนพืช ได้ประโยชน์มากมาย วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานเมล็ดพืชเพาะงอกมาให้ได้อ่านกันค่ะ
เมล็ดพืชเพาะงอก (Sprouted grains) คืออะไร
เมล็ดพืชเพาะงอกเป็นพืชที่เติบโตในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยกระบวนการเพาะงอกสามารถทำได้โดยการนำเมล็ดธัญพืชไม่แช่น้ำนานหลายชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดธัญพืชที่แช่น้ำใส่ภาชนะโดยให้มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม หลังจากนั้นรอให้ต้นงอกขึ้นมา โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-7 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดธัญพืช หลังจากนั้นรอให้ ต้นอ่อนพืช มีความยาวสัก 2-5 เซนติเมตร จึงสามารถนำมารับประทานได้ มีเมล็ดธัญพืชหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาทำเมล็ดพืชเพาะงอกได้ ดังนี้
- พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเลนทิล ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว และถั่วลันเตา
- ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ควินัว ข้าวโอ๊ต
- ถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงา ไควาเระ
โดยส่วนใหญ่แล้วเมล็ดพืชเพาะงอกนิยมรับประทานแบบดิบ ไม่ว่าจะนำมาใส่สลัด รับประทานกับน้ำพริก หรืออาจจะนำมาปรุงสุก โดยผ่านความร้อนเพียงเล็กน้อย เช่น การผัดน้ำมัน ก็ช่วยให้รับประทานได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์ของ เมล็ดพืชเพาะงอก
อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์
โดยปกติแล้วเมล็ดพืชเหล่านี้อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น โปรตีน โฟเลต แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส วิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินเค แต่จากการศึกษาพบว่า การนำเมล็ดพืชเหล่านี้มาผ่านกระบวนการแตกหน่อจะช่วยให้ได้สารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น โปรตีน กรดอะมิโนจำเป็น นอกจากนี้การรับประทานพืชเพาะงอกยังดีต่อระบบย่อยอาหารอีกด้วย ที่สำคัญ พืชเพาะงอก เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีอีกด้วย
ช่วยในการย่อย
การรับประทาน พืชเพาะงอก มีส่วนช่วยในระบบการย่อยมากมาย โดย พืชเพาะงอก จะมีเอนไซม์ที่มีชีวิตในปริมาณที่สูง ซึ่งเอนไซม์เหล่านั้นมีส่วนช่วยในการส่งเสริมกระบวนการเผาผลาญและปรับปรุงปฏิกิริยาทางเคมีในการย่อยอาหาร นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารอีกด้วย ที่สำคัญเมล็ดพืชเพาะงอกเหล่านี้มีปริมาณไฟเบอร์สูงช่วยให้ขับถ่ายได้ดี
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
จากการวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า พืชเพาะงอก มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มการทำงานของเอนไซม์แอไมเลส (Amylase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ร่างกายใช้ย่อยและดูดซึมน้ำตาล ซึ่งดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างแน่ชัด
บำรุงสุขภาพดวงตา
พืชเพาะงอก ปริมาณวิตามินเอ ซึ่งวิตามินเอเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพดวงตา ช่วยปรับปรุงการมองเห็นและสายตาให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ดวงตาอีกด้วย
ปรับปรุงสุขภาพหัวใจ
ต้นอ่อนพืช หรือ พืชเพาะงอก มีปริมาณกรดไขมันโอเมกา 3 ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้มีส่วนช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลดีให้กับร่างกาย และยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในเลือดอีกด้วย นอกจากนี้กรดไขมันโอเมกา 3 ยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบของร่างกาย และยังช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบไหลเวียนเลือด ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ
ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
วิตามินซีเป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่สามารถพบได้ใน ต้นอ่อนพืช ที่ผ่านกระบวนการแตกหน่อ ซึ่งวิตามินซีมีส่วนช่วนในการเพิ่มการทำงานให้กับเม็ดเลือดขาว เพื่อให้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเม็ดเลือดขาวทำงานได้ดี ร่างกายก็จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีตามไปด้วย
[embed-health-tool-bmr]