ถึงแม้ค้างคาวจะเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างไกลจากตัวเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ปีกชนิดนี้จะไม่สามารถนำโรคร้ายมาสู่ร่างกายเราได้ เพราะมันสามารถติดต่อได้จาก สัตว์สู่สัตว์ จนมาถึง สัตว์สู่คน และแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการติดทางคนสู่คน เหมือนกับไวรัสโควิด-19 เลยทีเดียว ที่ ณ ปัจจุบันก็ยังคมีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบอย่างรุนแรง โรคฮิสโตพลาสโมซิส นี้ก็เช่นเดียวกัน วันนี้ Hello คุณหมอ จึงนำความรู้ และวิธีป้องกัน มาฝากทุกคนก่อนเกิดวิกฤตทางสุขภาพอีกครั้ง
โรคฮิสโตพลาสโมซิส คืออะไร
โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) คือ โรคปอดชนิดหนึ่ง คล้ายกับโรคปอดบวม เป็นเชื้อราที่ถูกพบในมูลของสัตว์ปีกโดยเฉพาะนก และค้างคาว เมื่อเชื้อนี้ลอยอยู่บนอากาศจนเราเผลอสูดดมอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ค่อยพบมากเท่าไหร่ในตัวเมืองมากนัก แต่ก็มีการค้นพบการรายงานว่าเชื้อนี้พบบ่อยในแถบอเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย
บุคคลที่ป่วยเป็นโรคฮิสพลาสโมซิสนี้มากที่สุด มักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือโรคประจำตัวอยู่แต่เดิม เช่น ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไขข้ออักเสบ เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพใกล้กับแม่น้ำ อุโมงค์ ถ้ำ หรือเกษตรกร เสียส่วนใหญ่ เพราะต้องคลุกคลี หรือใช้ชีวิตในบริเวณป่าเขา ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนก และค้างคาว
อาการของโรคฮิสโตพลาสโมซิส ที่คุณต้องรู้จักสังเกต
สังเกต และเช็กอาการเบื้องต้น เหล่านี้ได้ หลังจากที่ตัวคุณ หรือคนรอบข้างคุณไปยังสถานที่เสี่ยง อาการเจ็บป่วยจะค่อยๆ ปรากฏขึ้นในระยะเวลา 10 วัน หลังจากรับเชื้อในมูลนก และค้างคาว
อาการดังต่อไปนี้ คืออาการที่อาจส่งผลต่อร้ายแรงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และควรเข้ารับการรักษา หรือวินิจฉัยโดยแพทย์ทันที
- เหงื่อออกในปริมาณมาก
- หายใจถี่
- ไอเป็นเลือด
- ไข้สูง
- สมองบวม
- ปวดศีรษะ
- การทำงาน หรืออัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
- ไขสันหลังอักเสบ
วิธีป้องกันและวิธีการรักษาให้คุณพ้นจากโรคฮิสโตพลาสโมซิส
ในขั้นแรกคุณควรเริ่มจากการดูแลตนเอง และคอยเฝ้าวังสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกโดยตรง
- หมั่นทำความสะอาดกรงนกที่คุณเลี้ยงไว้
- ขุดดินกลบมูลสัตว์ปีกให้ลึกที่สุด
- โปรดสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปพื้นที่เสี่ยง
จากนั้นเมื่อเริ่มมีอาการเจ็บป่วยคล้ายกับอาการข้างต้น คุณควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยอาจมีการวินิจฉัยจากการตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อที่แฝงตัวมาจากสัตว์ปีก
ซึ่งการรักษาทางการแพทย์ อาจมีการรับประทานยาต้านเชื้อราเพิ่มเติม เช่น คีโตโคนาโซล (ketoconazole), แอมโฟเทอริซิน บี (amphotericin B), ไอทราโคนาโซล (itraconazole) แต่สำหรับผู้ป่วยบางกรณีที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการฉีดยาต้านเชื้อเข้าสู่หลอดเลือดดำโดยตรงแทน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด