ผู้คนส่วนใหญ่มักเลี้ยงสัตว์เลี้ยง อย่าง สุนัข หรือแมว เอาไว้เป็นเพื่อนรู้ใจ คอยแก้เหงา หรืออาจเลี้ยงไว้ช่วยเฝ้าบ้าน แต่เมื่อแต่งงานและมีลูก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการให้ สัตว์เลี้ยงกับเด็ก อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเด็ก
วิธีการ เตรียมสัตว์เลี้ยงให้พร้อม
การวางแผนล่วงหน้าที่จะทำให้ สัตว์เลี่ยงกับเด็ก สามารถอยู่ด้วยกันได้ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณควรจะต้องเเตรียมตัวเอาไว้ก่อนที่ทารกแรกเกิดจะเดินทางกลับมายังบ้าน การเตรียมตัวเอาไว้ล่วงหน้าจะยิ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของทุกคนมีความง่ายขึ้น สำหรับวิธีการเตรียมสัตว์เลี้ยงให้พร้อม ก่อนที่จะได้พบกับทารกเป็นครั้งแรก สามารถทำได้ ดังนี้
วางแผน
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สิ่งแรกที่คุณควรทำ ก็คือ วางแผน โดยปกติแล้วสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขนั้นจะเป็นสัตว์ที่กระตือรือร้น แต่พวกมันก็ยังสามารถแสดงความหึงหวงเจ้าของได้เช่นกัน เพราะพวกมันไม่ได้เป็นศูนย์กลางของความสนใจอีกต่อไป ซึ่งเช่นเดียวกับแมว พวกมันมักจะเป็นสัตว์เจ้าอารมณ์และบางครั้งก็มักจะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งลักษณะเหล่านี้อ้างอิงจาก American Kennel Club (AKC)
ดังนั้น คุณจึงต้องใช้ระยะเวลาในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมสัตว์เลี้ยงของคุณให้พร้อมสำหรับการมาถึงของทารก โดยทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งอเมริกา (The American Society for Prevention of Cruelty to Animals หรือ ASPCA) แนะนำเอาไว้ว่า คุณควรพาสุนัขไปฝึกในชั้นเรียน เพื่อให้พวกมันมีการเชื่อฟังขั้นพื้นฐาน และย้ายข้าวของต่างๆ ของแมวไปยังพื้นที่ส่วนตัว
นอกจากนั้น คุณควรติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ และจัดบริเวณสำหรับเลี้ยงเด็กเอาไว้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะแมวจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการสำรวจแต่ละพื้นที่ก่อนที่คุณจะทำให้มันพ้นจากบริเวณที่จำกัดเอาไว้
แนะนำสัตว์เลี้ยงให้รู้จักกับเสียงและกลิ่นของทารก
ทารกแรกเกิดมักจะมีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา นั่นก็เพราะมันเป็นวิธีเดียวที่พวกเขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกไม่สบาย ความหิว หรือความเศร้า ออมาผ่านการร้องไห้ แต่ความวุ่นวายที่อาจเพิ่มเข้ามาก็คือ เสียงร้องไห้ของทารกอาจทำให้สัตว์เลี้ยง อย่าง สุนัข และแมว มีความหงุดหงิดเกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ทาง ASPCA แนะนำเอาไว้ว่า ควรนำเสียงและกลิ่นทั่วไปของลูกน้อยมาให้สัตว์เลี้ยงของคุณดมเพื่อสร้างความเคยชิน บางครั้งอาจจะใช้วิธีการอัดเสียงของลูกน้อยเอามาให้สัตว์เลี้ยงของคุณฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะเมื่อพวกมันได้ยินเสียงของทารก แทนที่มันจะกลัวหรือหงุดหงิดกับเสียงที่ได้ยิน แต่พวกมันจะรู้สึกอยากต้อนรับลูกน้อยของคุณแทน
เปลี่ยนกิจวัตรและความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เลี้ยง
แน่นอนว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเมื่อลูกน้อยของคุณมาถึง นั่นอาจจะทำให้คุณและสัตว์เลี้ยงมีระยะเวลาในการดำเนินกิจวัตรประจำวันลดลงอย่างแน่นอน ดังนั้น หากคุณจะเป็นผู้ดูแลลูกเป็นหลัก คุณอาจจะต้องผลักภาระหน้าที่เหล่านี้ให้กับคู่รักของคุณ หรือเริ่มเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของคุณ
ทาง American Kennel Club (AKC) แนะนำว่า ให้ทำการเปลี่ยนแปลงกำหนดการหรือผู้ดูแลอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนที่ทารกจะมา เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของคุณจะได้ไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีทารกใหม่เข้ามายังบ้าน คุณสามารถทดลองใช้รถเข็นเด็กเอาออกไปเดินเล่น เพื่อให้สุนัขของคุณคุ้นเคยกับระบบใหม่ล่วงหน้า สิ่งนี้จะช่วยให้คุณผ่านความท้าทายไปได้ โดยไม่ต้องเครียดกับเรื่องการดูแลลูกน้อยและสัตว์เลี้ยงไปพร้อมๆ กัน บางทีคุณอาจจะต้องจ้างคนมาช่วยดูแลสุนัข เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณเอง
สร้างกฎใหม่
การวางขอบเขตไว้ก่อนการคลอดของทารกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากไม่มีการวางขอบเขตเอาไว้มันอาจทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณรู้สึกไม่มีความสุขเมื่อทารกมาถึงบ้านก็เป็นได้ นอกจากนั้นการทำเช่นนี้ยังง่ายต่อการบังคับใช้กฎเหล่านี้ล่วงหน้า เมื่อคุณไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่สับสนวุ่นวาย หรือไม่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ
ถ้าคุณไม่ต้องการให้สุนัขหรือแมวของคุณอยู่บนเฟอร์นิเจอร์หรือเตียงหลังจากที่ลูกน้อยของคุณกลับมาถึงบ้าน คุณควรสร้างกฎนั้นขึ้นมาทันที นอกจากนั้น ถ้าหากคุณไม่ต้องการให้สุขันกระโดดขึ้นไปบนตัวคุณเมื่อคุณกำลังอุ้มลูกอยู่ หรืออุ้มลูกไว้บนตัก คุณควรจะต้องเริ่มสอนให้สัตว์เลี้ยงเก็บอุ้งเท้าทั้ง 4 ของมันเอาไว้บนพื้น
เช่นเดียวกับการเตรียมตัวเข้านอน หากสัตว์เลี้ยงของคุณคุ้นเคยกับการนอนบนเตียงหรือในห้องนอนของคุณ และคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่า นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณจะต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้เร็วที่สุด
นำผ้าห่มหรือสิ่งของที่ลูกน้อยสวมใส่กลับมาบ้าน
หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในการแนะนำให้สัตว์เลี้ยงได้รู้จักกับลูกน้อยของคุณ ก็คือ การนำผ้าห่มหรือชุดแรกที่ลูกน้อยสวมใส่กลับมาบ้าน การทำเช่นนี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณคุ้นเคยกับกลิ่นของทารก ก่อนที่ทารกจะกลับมาบ้านจริงๆ
สัตว์เลี้ยงกับเด็ก ถ้าต้องอยู่ร่วมกัน ต้องทำอย่างไร
สัตว์เลี้ยงอย่างเช่น สุนัขของคุณอาจจะไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมชีวิตในบ้านของพวกมันถึงมีความเปลี่ยนแปลง ด้วยสิ่งกระตุ้นต่างๆ อาจทำให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ของสัตว์เลี้ยงได้มากกว่าปกติ ดังนั้น แทนที่คุณจะดุเขา หรือเอาแต่พูดว่า “ไม่” ตลอดเวลา คุณควรสอนพวกเขา เปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาไปยังบางสิ่งที่อาจจะทำให้พวกเขามีความสุข ลองหาของเล่น หรือของเคี้ยวใหม่ให้พวกเขา
นอกจากนั้นยังควรจะให้สัตว์เลี้ยงได้ร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทารก พยายามให้พวกมันนั่งอยู่ใกล้เมื่อคุณกำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อย หรือระหว่างที่พูดคุยกับลูกน้อย การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกน้อยของคุณเปลี่ยนจากคนแปลกหน้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ให้กลายเป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของเขาและเพื่อนตลอดชีวิต และเพื่อรักษาความปลอดภัยของลูกน้อย คุณควรทำสิ่งเหล่านี้
- ติดตั้งประตูความปลอดภัย และเพื่อกำหนดบริเวณห้องพักบางห้องไม่จำกัดต่อสุนัขของคุณ ซึ่งวิธีนี้เด็กจะสามารถกลิ้งและคลานได้อย่างสงบ
- จัดหาของเล่นให้สัตว์เลี้ยงด้วย หากสัตว์เลี้ยงของคุณมีของเล่นเป็นของตัวเอง นั่นจะทำพวกมันมีโอกาสน้อยมากที่จะมาเคี้ยวของเล่นของลูกน้อย
- หลีกเลี่ยงการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร พยายามเก็บชามข้าวของสัตว์เลี้ยงเอาไว้ที่เคาน์เตอร์เมื่อพวกมันไม่ได้กินอาหาร การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกของคุณสามารถทำอะไรได้อย่างอิสระมากขึ้น หากไม่เก็บชามข้าวของสัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้ดี ลูกของคุณอาจจะทำน้ำเลอะเทอะได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการจมน้ำ หรือลูกน้อยอาจจะลองชิมอาหารบดเป็นเม็ดหยาบของสัตว์เลี้ยง ซึ่งมันอาจทำให้ลูกของคุณสำลักได้ นอกจากนี้สุนัขบางสายพันธุ์ อย่างสุนัขพันธุ์เชาเชา ยังมีอาณาเขตรอบๆ ของตัวเองอีกด้วย
- สอนลูกน้อยให้อ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง ด้วยการให้ลูกน้อยใช้มือลูบขนของสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นตัวคุณเองก็ต้องพยายามแสดงให้ลูกน้อยเห็นถึงวิธีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้อง หลังจากนั้นลูกของคุณก็จะมีพฤติกรรมเลียนแบบคุณ ซึ่งนั่นจะทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณมีความสุขและรู้สึกเป็นมิตรกับทารก
- อย่าปล่อยให้ลูกอยู่ลำพังกับสัตว์เลี้ยง เนื่องจากพฤติกรรมของทารกนั้นอาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดความระคายเคืองโดยไม่คาดคิด พยายามดูการเว้นจังหวะ หรือการสบตาที่ผิดปกติ ซึ่งนั้นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงของคุณกำลังรู้สึกไม่สบายใจกับลูกน้อยของคุณ
[embed-health-tool-vaccination-tool]