backup og meta

ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง กับเคล็ดลับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคได้อย่างเป็นสุข

ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง กับเคล็ดลับการใช้ชีวิตร่วมกับโรคได้อย่างเป็นสุข

เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ท้องเสีย เป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ เป็นแผล หรือยิ่งหากเป็นโรครุนแรงหรือโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย ใช้เวลารักษาไม่นานก็คงหาย แต่หาก ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดไม่ได้ และคุณต้องอยู่กับโรคนั้นไปตลอดชีวิต โรคเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ จนทำให้คุณเครียด กังวล และไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรดี วันนี้ Hello คุณหมอ มีเคล็ดลับดี ๆ ในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคเรื้อรังอย่างเป็นสุขมาฝากคุณแล้ว

ทำความเข้าใจ โรคเรื้อรัง ให้กระจ่างขึ้น

โรคเรื้อรัง คืออะไร

โรคเรื้อรัง (Chronic diseases) หมายถึง โรคที่เป็นแล้วจะมีอาการ หรือต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ

ตัวอย่าง โรคเรื้อรัง

ตัวอย่างโรคเรื้อรังที่พบบ่อย เช่น

  • โรคหัวใจ
  • โรคมะเร็ง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคข้ออักเสบ
  • โรคหืด
  • โรคอัลไซเมอร์
  • ภาวะสมองเสื่อม
  • โรคลมชัก
  • การติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคพาร์กินสัน
  • โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว โรคไบโพลาร์ชนิดอ่อน (Cyclothymic disorder หรือ Cyclothymia)

เมื่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องทนอยู่กับความเจ็บป่วยเป็นเวลานานอาจทำให้สุขภาพยิ่งแย่ลง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ เป็นต้น ฉะนั้น การรู้จักอยู่ร่วมกับโรคเรื้อรังอย่างเป็นสุข จึงถือเป็นวิธีรับมือกับโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างควรเรียนรู้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะยิ่งคุณมีความสุขกับชีวิตมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาและการควบคุมโรคมากขึ้นเท่านั้น

เคล็ดลับในการใช้ชีวิตร่วมกับ โรคเรื้อรัง

เปิดใจยอมรับว่า คุณ ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง

พอรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจทำใจยอมรับความจริงไม่ได้ ซึ่งนั่นจะยิ่งส่งผลให้อาการของโรคและสุขภาพโดยรวมของคุณยิ่งแย่ลงไปอีก ฉะนั้น หากได้รับการวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง สิ่งแรกที่คุณควรทำให้ได้ก็คือ การยอมรับว่าตัวเองป่วย และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นให้ดีขึ้น โดยคุณอาจศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาคุณหมอก็ได้

พูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ

การได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังด้วยกัน จะช่วยให้คุณมีกำลังใจ และสามารถรับมือกับโรคที่เป็นอยู่ได้ดีขึ้น โดยคุณอาจเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลจัดขึ้น หรือเข้าร่วมกลุ่มทางออนไลน์ก็ได้

บอกให้คนรอบข้างรู้ถึงอาการป่วยของคุณ

เวลาเจ็บป่วย บางคนอาจไม่อยากบอกให้คนอื่นรู้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เพราะคุณอาจอาย หรือกลัวจะไปทำให้คนเหล่านั้นเป็นกังวลหรือมองคุณเปลี่ยนไป จริงอยู่ที่ว่าอาการป่วยของคุณอาจทำให้ผู้อื่นประหลาดใจ หรือเป็นกังวลได้ แต่เมื่อพวกเขารู้ว่าคุณป่วย ก็อาจช่วยเหลือคุณได้ในยามจำเป็นหรือยามฉุกเฉิน เพราะโรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคลมชัก โรคเบาหวาน อาจมีอาการกำเริบเฉียบพลัน และต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที อีกทั้งการได้พูดคุยกับคนรอบข้าง ยังถือเป็นการระบายความเครียด และช่วยให้คุณมีกำลังใจมากขึ้นด้วย

ปรับไลฟ์สไตล์ให้ส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น

รูปแบบการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมอาหารการกิน หลีกเลี่ยงกิจกรรมทำลายสุขภาพ เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นอย่างยิ่ง แต่นอกจากวิธีการเหล่านี้แล้ว คุณก็อาจต้องมีกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคของคุณเพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น การไปพบคุณหมอเป็นประจำ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด

หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวันที่ควรทำหรือไม่ควรทำ แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอ หรือผู้ดูแลสุขภาพของคุณจะดีที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Living with a chronic illness – reaching out to others. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000602.htm. Accessed October 12, 2020

About Chronic Diseases. https://www.cdc.gov/chronicdisease/about/index.htm#:~:text=Chronic%20diseases%20are%20defined%20broadly,disability%20in%20the%20United%20States. Accessed October 12, 2020

Chronic Diseases and Conditions. https://www.health.ny.gov/diseases/chronic/. Accessed October 12, 2020

Living with Chronic Illness. https://adaa.org/learn-from-us/from-the-experts/blog-posts/consumer/living-chronic-illness. Accessed October 12, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/03/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตก ร้อนจัด ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 27/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา