ฟันปลอม เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยแก้ปัญหาการพูดและการกินอาหาร แถมยังช่วยเพิ่มความมั่นใจเวลาที่คุณยิ้มอีกด้วย สำหรับผู้ที่เพิ่งใส่ฟันปลอมครั้งแรก วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำแนะนำในการดูแลฟันปลอมมาฝากกันค่ะ
ฟันปลอม คืออะไร
ฟันปลอม คือ ฟันเทียมที่สามารถถอดออกได้ ทำมาจากวัสดุที่เป็นพลาสติกอะคริลิค ไนลอน หรือเหล็ก มีขนาดพอดีกับเหงือกเพื่อแทนที่บริเวณที่ไม่มีฟัน และช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการกินและการพูด ปัญหาฟันซี่ที่อยู่ด้านข้างของฟันที่ถอนออกจะเอียงล้มไปทางช่องว่าง จนอาจส่งผลให้ฟันล้มได้ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ต้องถอดฟันทุกซี่ก็จำเป็นต้องแทนที่ด้วยการใส่ฟันปลอม โดยฟันปลอมมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่
- ฟันปลอมทั้งปาก (Complete dentures) สำหรับแทนที่ฟันบนและฟันล่าง
- ฟันปลอมบางส่วน (Partial dentures) สำหรับแทนที่ฟันบางซี่ที่หายไป
ฟันปลอมจะช่วยป้องกันปัญหาในการกินอาหารและการพูด นอกจากนี้ การใส่ฟันปลอมยังช่วยทำให้คุณมั่นใจเวลายิ้ม ซึ่งเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้น
วิธีการดูแลฟันปลอมอย่างถูกวิธี
ทำความสะอาดฟันปลอมด้วยน้ำเปล่าหลังรับประทานอาหาร
หลังรับประทานอาหารควรทำความสะอาดฟันปลอมด้วยน้ำเปล่า เพื่อกำจัดเศษอาหาร นอกจากนี้ คุณอาจนำผ้าเช็ดตัวมาวางบริเวณอ่างล้างมือ หรือเปิดน้ำใส่ในอ่างล้างมือให้เต็ม และจึงค่อยล้างฟันปลอมด้วยน้ำเปล่า เพื่อป้องกันการแตกหักของฟันปลอมในกรณีที่คุณทำหล่นขณะทำความสะอาด
ถือฟันปลอมอย่างระมัดระวัง
ขณะที่ทำความสะอาด ไม่ควรงอฟันปลอม หรือสร้างความเสียหายให้พลาสติกหรือตะขอเหล็กของฟันปลอม
ทำความสะอาดช่องปากหลังจากถอดฟันปลอม
หลังจากถอดฟันปลอมออก ควรทำความสะอาดช่องปากด้วยแปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม และต้องไม่ลืมทำความสะอาดลิ้น กระพุ้งแก้ม และเพดานปาก นอกจากนี้ในกรณีที่คุณใช้กาวติดฟันปลอม ควรทำความสะอาดกาวติดฟันปลอมที่เหลืออยู่บนเหงือกให้หมด
ใช้แปรงทำความสะอาด ฟันปลอม
ฟันปลอมต้องการการทำความสะอาดในทุก ๆ วันเหมือนกับฟันแท้ของคุณ เพื่อขจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ การใช้แปรงสีฟันทำความสะอาดฟันปลอมจะช่วยป้องกันการเกิดคราบถาวร โดยคุณควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม และหลีกเลี่ยงแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียหาย และข้อควรระวังก็คือ ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาด หรือยาสีฟันทำความสะอาดฟันปลอมภายในช่องปากของคุณ
ใช้น้ำยาทำความสะอาด ฟันปลอม
สบู่ล้างมือหรือน้ำยาล้างจานสูตรอ่อนโยน สามารถใช้เพื่อทำความสะอาดฟันปลอมได้ ส่วนน้ำยาทำความสะอาดภายในบ้าน หรือยาสีฟันหลายๆ ยี่ห้ออาจกัดกร่อนผิวฟันปลอมมากเกินไป จึงไม่ควรใช้เพื่อทำความสะอาดฟันปลอม นอกจากนี้ คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาว เนื่องจากจะทำให้ส่วนที่เป็นสีชมพูของฟันปลอมกลายเป็นสีขาวได้
แช่ฟันปลอมไว้ทั้งคืน
ฟันปลอมส่วนใหญ่ต้องการความชุ่มชื้นเพื่อรักษารูปร่างของฟันปลอม ดังนั้นจึงควรแช่ฟันปลอมในน้ำ หรือสารละลายสำหรับแช่ฟันปลอมตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพิ่มเติม เนื่องจากทันตแพทย์จะแนะนำวิธีที่เหมาะสมในการดูแลฟันปลอมของคุณ
ก่อนใส่ฟันปลอม ควรล้างทำความสะอาด
ควรล้างฟันปลอมด้วยน้ำสะอาดก่อนใส่ฟันปลอม โดยเฉพาะหลังจากที่แช่ฟันปลอมในสารละลาย เนื่องจากสารเคมีที่แช่ฟันปลอมอาจทำให้อาเจียน เกิดความเจ็บปวด หรือมีอาการแสบเวลากลืนอาหาร
จัดเวลาไปพบทันตแพทย์
ควรไปพบทันตแพทย์ทันทีหากรู้สึกว่าฟันปลอมเริ่มหลวม เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ คุณควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือนด้วย
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อคุณใช้ฟันปลอม
เพื่อป้องกันฟันปลอมเสียหาย คุณควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้
- ยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว (Whitening toothpastes) หรือยาสีฟันประเภทไวท์เทนนิง เพราะยาสีฟันประเภทนี้จะมีเปอร์ออกไซด์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ฟันปลอมเปลี่ยนสี
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารฟอกขาว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารฟอกขาวสามารถทำให้ฟันปลอมเปลี่ยนสีได้
- ไม่ใช้สารละลายที่มีคลอรีน ไม่ควรแช่ฟันปลอมในสารละลายที่มีคลอรีน เพราะสามารถกัดกร่อนเหล็กและทำให้ฟันปลอมเปรอะเปื้อน
- น้ำร้อน ควรหลีกเลี่ยงน้ำร้อนเพราะจะทำให้ฟันปลอมบิดงอจนเสียรูป
- ไม่ควรปรับขนาดหรือซ่อมฟันปลอมด้วยตนเอง หากฟันปลอมไม่พอดีกับช่องปาก คุณไม่ควรปรับขนาดฟันปลอมด้วยตนเอง และไม่ควรงอตะขอหรือเหล็กของฟันปลอมเองด้วย เนื่องจากอาจทำให้โครงสร้างเสียหาย รวมถึงการซื้อกาวมาซ่อมแซมฟันปลอมอาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากฟันปลอมของคุณมีขนาดไม่พอดีกับเหงือกและฟัน หรือเสียหาย คุณควรปรึกษาทันตแพทย์
ฟันปลอมมีอายุกี่ปี
เมื่อเวลาผ่านไปคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนฟันปลอม เพราะฟันปลอมอาจเกิดการสึกหรอตามปกติ และใบหน้า กระดูกกราม และเหงือกของคุณอาจเปลี่ยนแปลงตามวัย รวมถึงกรณีที่ฟันปลอมเริ่มหลวมก็อาจต้องเปลี่ยนฟันปลอมเช่นกัน ซึ่งโดยปกติฟันปลอมจะมีอายุ 5-7 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานและการดูแลรักษาด้วย
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]