backup og meta

ฟอกสีฟัน โดยทันตแพทย์ กับฟอกสีฟันที่บ้าน ฟันขาวจริงไหม แบบไหนดีกว่า

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 19/10/2020

    ฟอกสีฟัน โดยทันตแพทย์ กับฟอกสีฟันที่บ้าน ฟันขาวจริงไหม แบบไหนดีกว่า

    สีขาว… เป็นสีที่ให้ความรู้สึกถึงความสะอาด สดใส ไม่เว้นแม้กระทั่งอวัยวะในร่างกายของเราอย่าง “ฟัน’ เพราะใคร ๆ ก็ชื่นชอบฟันที่ดูขาวสะอาด แต่อาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ก็อาจทำให้ฟันมีคราบจนสีฟันไม่ขาวสดใส หรือเกิดปัญหาฟันเหลือง จนบั่นทอนความมั่นใจของใครหลาย ๆ คนได้ ดังนั้น จึงได้เกิดนวัตกรรมการฟอกสีฟันที่ช่วยคืนความขาวสะอาดให้แก่ฟันของคุณ แต่การฟอกสีฟันก็มีหลากหลายวิธี ทั้งการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ และการฟอกสีฟันเองที่บ้าน หากใครยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะกับการ ฟอกสีฟัน แบบไหน Hello คุณหมอ ขอแนะนำให้ลองอ่านบทความนี้ดูได้เลย

    ฟันขาวขึ้นได้ ด้วยการ ฟอกสีฟัน

    การฟอกสีฟัน เป็นการแก้ปัญหาฟันเหลืองจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน การรับประทานยาบางชนิด หรือจากคราบน้ำชา กาแฟ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถแก้ฟันเหลืองด้วยการฟอกสีฟันได้ เพราะในบางครั้งโรคของฟันบางอย่างก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ยากต่อการฟอกสีฟัน เช่น ภาวะเหงือกร่น ฟันมีสีจากอุบัติเหตุ ฟันมีสีตามอายุการใช้งาน

    การฟอกสีฟันที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ดังนี้

    1. การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์

    ก่อนฟอกสีฟัน ทันตแพทย์จะต้องตรวจช่องปากและดูประวัติสุขภาพของคุณอย่างละเอียด เพื่อประเมินว่า คุณสามารถรับการฟอกสีฟันได้หรือไม่ หากได้ แพทย์จะฟอกสีฟันให้คุณ โดยการลงน้ำยาฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นสูง อย่าง ไฮโดรเจน เพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือ คาร์บาไมด์ เพอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) เพื่อให้ไปทำปฏิกิริยากับสารภายในฟัน ทำให้สีที่สะสมอยู่บนผิวฟันและในเนื้อฟันแตกตัวออกมา ฟันจึงขาวสว่างขึ้น โดยไม่มีผลต่อเคลือบฟัน และโครงสร้างของฟันตามธรรมชาติ

    ในปัจจุบันมีการใช้แสงเลเซอร์หรือแสงสีฟ้า (Blue Light) มาช่วยกระตุ้นให้น้ำยาฟอกสีฟันสามารถกำจัดคราบสีที่ติดอยู่บนผิวฟันและในเนื้อฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ทำลายเคลือบฟัน ไม่กัดกร่อนเนื้อฟัน และโครงสร้างของฟันตามธรรมชาติ ปกติแล้ว การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ที่สถานพยาบาล จะใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที สามารถปรับระดับเฉดสีฟันให้ขาวขึ้นได้ 3-8 เฉดสี

    2. การฟอกสีฟันเองที่บ้าน

    การฟอกสีฟันเองที่บ้าน ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของทันตแพทย์ คุณต้องเข้ารับการตรวจฟันกับทันตแพทย์ก่อน เพื่อประเมินสภาพฟันและสีฟัน หากทันตแพทย์เห็นว่าพร้อมที่จะฟอกสีฟัน ก็จะพิมพ์ปากคนไข้เพื่อสร้างแบบจำลองฟัน และนำมาทำถาดฟอกสีฟันที่พอดีกับช่องปากของคุณ จากนั้นคุณก็จะได้รับน้ำยาฟอกสีฟันแบบความเข้มข้นต่ำ และถาดฟอกสีฟันที่จัดทำขึ้นเพื่อคุณโดยเฉพาะกลับไปใช้ที่บ้าน

    วิธีฟอกสีฟันเองที่บ้านก็คือ คุณต้องใส่น้ำยาลงในถาดฟอกสีฟัน และใส่ถาดนี้ไว้วันละประมาณ 4 ชั่วโมง หรือใส่ไว้ตอนนอน ข้อห้ามระหว่างใส่ถาดฟอกสีฟัน คือ งดรับประทานอาหารทุกชนิด

    อาการที่อาจพบได้ในระหว่างฟอกสีฟัน ได้แก่ อาการเสียวฟัน อาการระคายเคืองเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เหงือก ระหว่างที่ฟอกสีฟันด้วยตัวเอง ทันตแพทย์จะนัดติดตามผลเป็นระยะ เพื่อดูผลของการฟอกสีฟัน และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ สีของฟันจะค่อย ๆ ขาวสว่างขึ้น

    ผลข้างเคียงจากการฟอกสีฟัน

    การฟอกสีฟัน ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อฟันของคุณ ไม่ทำลายเคลือบฟันและเนื้อฟัน แต่ในบางคนอาจจะมีอาการเสียวฟันขณะทำ หรือหลังทำได้ โดยอาการเสียวฟันนี้จะหายไปเองภายใน 1-2 วันหลังจากหยุดฟอกสี หากมีอาการเสียวฟัน แนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่ช่วยลดอาการเสียวฟัน บีบใส่ในถาดฟอกสี แล้วใส่ไว้นานอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรือหากฟอกสีฟันแล้วมีอาการระคายเคืองที่เหงือก ควรลดปริมาณน้ำยาฟอกสีฟันและลดจำนวนชั่วโมงในการฟอกสีลง

    วิธีดูแลสุขภาพช่องปากหลังฟอกสีฟัน

    หลังจากการฟอกสีฟันแล้ว ควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
    • ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมไนเตรตเพื่อช่วยลดอาการเสียวฟัน
    • ใช้ไหมขัดฟันช่วยในการทำความสะอาดฟัน
    • บ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอน
    • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีเข้ม เช่น ชา กาแฟ ไวน์แดง น้ำอัดลม ลูกอม แกงสีต่าง ๆ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดคราบสีบนผิวฟัน ทำให้ฟันดูคล้ำลงได้ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสีเข้มได้ ควรใช้หลอดดูดแทนการดื่มจากแก้วโดยตรง
    • ภายใน 2 สัปดาห์หลังฟอกสีฟัน ควรงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติเป็นกรด หรืออาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด อาหารร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพื่อลดอาการเสียวฟัน งดสูบบุรี่อย่างน้อย 1 สัปดาห์
    • รับการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน

    ฟันที่ขาวขึ้นจากการฟอกสีฟันไม่ได้คงอยู่ถาวร ความขาวใสของสีฟันจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา สีฟันหลังฟอกจะคงอยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของคุณ หากคนไข้ดูแลฟันเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้สีฟันคงอยู่ได้นานประมาณ 1-2 ปี โดยทันตแพทย์จะแนะนำให้คุณฟอกสีฟันซ้ำเป็นระยะทุกปี เพื่อให้สีฟันที่ขาวขึ้นแล้ว อยู่ได้คงทนถาวรและยาวนานขึ้น

    เราควรฟอกสีฟันหรือเปล่า

    ถึงแม้การฟอกสีฟันจะช่วยปรับเฉดสีฟันให้ขาวขึ้นได้ แต่ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน ก่อนจะฟอกสีฟัน คุณต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย

    • โรคหรือภาวะบางอย่างก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ยากต่อการฟอกสีฟัน เช่น ภาวะเหงือกร่น ที่เผยให้เห็นเนื้อฟันสีเหลืองบริเวณรากฟัน ฟันสีคล้ำที่เกิดจากการรับประทานยาเตตราไซคลีน ฟันที่มีสีคล้ำจากการเกิดอุบัติเหตุ ฟันผุ
    • ฟันเหลือง หากฟอกสีฟันแล้วจะเห็นผลได้ดีกว่า แต่ฟันที่เป็นสีเทาหรือน้ำตาล หรือมีคราบจากยาจำพวกเตตราซัยคลีน (Tetracycline) หรือได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป อาจจะไม่ขาวเมื่อใช้การฟอกสี
    • ผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบ หรืออาการเสียวฟัน อาจต้องหลีกเลี่ยงการฟอกฟันขาวที่ใช้สารเคมีซึ่งอาจระคายเคืองต่อเหงือก
    • การฟอกสีฟันไม่เหมาะกับผู้ที่มีการอุดฟันแบบสีเหมือนฟัน การครอบฟัน การอุดหรือเติมฟันสีธรรมชาติ เพราะการฟอกสีฟันจะใช้ไม่ได้ผลกับวัสดุเหล่านั้น และอาจทำให้มองเห็นความแตกต่างชัดเจนเกินไป จึงควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางเลือกอื่นๆ
    • ในบางกรณีที่มีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวฟันและขากรรไกร การครอบฟันจะช่วยในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และทำให้รอยยิ้มดูขาวสดใสยิ่งขึ้นอีกด้วย
    • การฟอกสีฟันไม่เหมาะกับผู้หญิงตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร รวมถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ฟอกสีฟัน เนื่องจากโพรงในตัวฟัน (pulp chamber) หรือเส้นประสาทฟันยังเติบโตไม่เต็มที่ การฟอกสีฟันอาจทำให้ระคายเคืองเนื้อฟัน หรือทำให้รู้สึกเสียวฟันได้ง่ายขึ้น
    • ฟันไวต่อความรู้สึกและอาการแพ้ คนที่มีฟันและเหงือกบอบบาง เหงือกร่น หรือฟันที่บูรณะมาแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อน รวมถึงคนที่แพ้เพอร์ออกไซด์ ก็ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันเช่นกัน

    การฟอกสีฟันจะได้ผลในกรณีที่เป็นฟันธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีผลต่อวัสดุอุดฟัน ครอบฟัน สะพานฟัน เคลือบผิวฟัน วีเนียร์ หรือฟันปลอม และไม่มีการฟอกสีฟันวิธีไหนที่สามารถทำปฏิกิริยากับฟันที่มีสีขาวมาก ๆ อยู่แล้ว

    ชุดฟอกสีฟันสำเร็จรูปได้ผลแค่ไหน

    เดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์สำหรับฟอกสีฟันแบบสำเร็จรูป ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยปกติในชุดฟอกสีฟันที่ซื้อใช้ได้เอง จะใช้สารฟอกสีฟัน คาร์บาไมด์ เพอร์ออกไซด์ 10-22% ซึ่งเท่ากับไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่ทันตแพทย์ใช้ราว 3% และมีความเข้มข้นอยู่ที่ 15%-43% หากอยากซื้อชุดฟอกสีฟันสำเร็จรูปมาใช้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หลีกเลี่ยงการซื้อจากออนไลน์ เพราะอาจมีส่วนผสมที่เป็นอันตราย

    ประสิทธิภาพของการฟอกสีฟัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารฟอกสีฟันเพียงอย่างเดียว แต่ถาดฟอกสีฟันก็มีส่วนเช่นกัน ถาดฟอกฟันที่ทำขึ้นเฉพาะแต่ละบุคคลโดยทันตแพทย์ จะทำให้น้ำยาสัมผัสกับฟันได้มากกว่าถาดฟอกฟันจากชุดฟอกสีฟันสำเร็จรูป

    ทางเลือกเพื่อฟันขาวอื่น ๆ ได้ผลแค่ไหน

    • ยาสีฟันไวท์เทนนิ่ง

    ยาสีฟันไวท์เทนนิ่ง หรือยาสีฟันสูตรฟันขาวมีสารฟอกสีชนิดไม่รุนแรง ช่วยขจัดคราบบนผิวฟันได้ แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการขจัดคราบ ไม่ได้เป็นการฟอกสีฟันแบบจริงจัง จึงอาจช่วยให้ฟันขาวขึ้นได้ประมาณ 1 เฉด ต่างกับการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ที่ทำให้ฟันขาวขึ้นได้ 3-8 เฉด แต่ถ้าคุณฟอกสีฟันกับทันตแพทย์มาแล้ว การใช้ยาสีฟันไวท์เทนนิ่ง ก็อาจช่วยให้ฟันขาวยาวนานขึ้นได้

  • เจลหรือแผ่นฟอกสีฟัน

  • เจลหรือแผ่นฟอกสีฟันมีส่วนผสมของไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ใช้ทาลงบนฟันโดยตรง วิธีการใช้อาจแตกต่างกันไปตามความเข้มข้นของไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่มี การฟอกสีฟันด้วยวิธีนี้ จะเห็นผลในสองสามวัน และผลอาจอยู่ได้นานราวสี่เดือน และคุณควรทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

    • น้ำยาบ้วนปาก

    ถือเป็นวิธีช่วยให้ฟันขาวขึ้นรูปแบบใหม่ นอกจากจะช่วยให้ลมหายใจสดชื่น ช่วยลดคราบพลัค และความเสี่ยงโรคเหงือกได้เช่นเดียวกับน้ำยาบ้วนปากทั่วไปแล้ว ยังมีการใส่ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์เข้าไปเพื่อช่วยให้ฟันขาวขึ้นด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญบระบุว่า น้ำยาบ้วนปากชนิดนี้ไม่ได้ผลเท่ากับผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันที่ซื้อได้ตามร้านขายยา เพราะน้ำยาบ้วนปากมีโอกาสสัมผัสกับฟันแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับแถบฟอกสีฟันที่ต้องทาทิ้งไว้ 30 นาที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชมพูนุช ทรงถาวรทวี · แก้ไขล่าสุด 19/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา