ขนมขบเคี้ยว เป็นอาหารว่างสำหรับรับประทานระหว่างวัน เพื่อช่วยควบคุมความหิวในระหว่างรอรับประทานอาหารมื้อถัดไป ซึ่งขนมขบเคี้ยวมีทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรเลือกรับประทานให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี
[embed-health-tool-bmi]
ขนมขบเคี้ยว มีประโยชน์อย่างไร
ขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารว่างที่สามารถให้พลังงานแก่ร่างกายในระหว่างรอรับประทานอาหารมื้อถัดไป เนื่องจากในระหว่างวัน ระดับน้ำตาลในเลือดอาจลดลงจนทำให้รู้สึกหิว การรับประทานขนมขบเคี้ยวจึงอาจช่วยลดความหิวได้ ทั้งยังช่วยควบคุมความอยากอาหารเพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกหิวมากเกินไปจนกินอาหารมื้อหลักถัดไปมากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ การเลือกรับประทานขนมขบเคี้ยวบางชนิด เช่น ถั่ว ธัญพืช ซีเรียล ยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายอีกด้วย
การรับประทานขนมขบเคี้ยวให้ดีต่อสุขภาพ
การรับประทานขนมขบเคี้ยวให้ดีต่อสุขภาพ อาจทำได้ดังนี้
- ควรมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพติดบ้านไว้เสมอ เพราะอาจช่วยให้สามารถเลือกรับประทานขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น
- อาจตั้งข้อยกเว้นให้ตัวเองเป็นครั้งคราวในการรับประทานขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกอยากรับประทานขนมที่ไม่มีประโยชน์มากเกินไป
- จัดตารางเวลาสำหรับมื้ออาหารและอาหารว่าง เพื่อให้ร่างกายไม่รู้สึกอิ่มหรือหิวมากเกินไป เพราะหากปล่อยให้ร่างกายหิวเป็นเวลานานอาจทำให้ขาดสติในการเลือกรับประทานขนมขบเคี้ยวได้
- ฝึกรับประทานอาหารอย่างมีสติ โดยการไม่รับประทานขนมขบเคี้ยวในขณะดูทีวี เล่นเกม หรือเล่นมือถือ เพราะอาจทำให้เพลิดเพลินจนรับประทานมากเกินไป
- อ่านฉลากข้อมูลโภชนาการก่อนเลือกซื้อขนมขบเคี้ยว โดยควรเลือกขนมขบเคี้ยวที่แคลอรีต่ำ น้ำตาล ไขมัน และโซเดียมต่ำ แต่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไฟเบอร์ โปรตีน แคลเซียม
- ควรมีนำขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพติดตัวไว้เสมอ เพราะหากรู้สึกหิวหรืออยากรับประทานขนมคบเคี้ยวจะได้สามารถหยิบขึ้นมารับประทานได้ทันที อาจช่วยลดการเลือกซื้อขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้
ขนมขบเคี้ยว ที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง
ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพหลายชนิดที่มีรสชาติอร่อย รับประทานง่าย และยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีน ใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ ที่นอกจากจะช่วยควบคุมความหิวระหว่างวันได้แล้ว ยังอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เช่น ซีเรียล กราโนล่า ข้าวโพดคั่ว ธัญพืชอัดแท่ง ถั่วอบกรอบ ผักอบกรอบ เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน
อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล แป้ง และโซเดียมสูง เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ บิสกิต คุกกี้ เพรทเซล ผักชุบแป้งทอดกรอบ กราโนล่าหรือซีเรียลบาร์ที่ใส่น้ำตาลหรือเคลือบช็อกโกแลต เพราะหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
ข้อควรระวังในการบริโภคขนมขบเคี้ยว
แม้ว่าขนมขบเคี้ยวบางชนิดอาจจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็อาจมีข้อควรระวังในการรับประทาน ดังนี้
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกรับประทานขนมขบเคี้ยวที่มีน้ำตาล โซเดียม และไขมันสูง รวมถึงการรับประทานขนมขบเคี้ยวในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน
- อาจทำให้พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เนื่องจากขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่ผ่านการแปรรูป มีการเติมเกลือ ไขมัน ผงชูรส และน้ำตาลสูง จนทำให้มีรสชาติที่ดึงดูดใจ ซึ่งอาจทำให้หลายคนเลือกรับประทานขนมขบเคี้ยวมากขึ้น และลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อพฤติกรรมการกินที่ดี และทำให้ร่างกายได้รับคุณภาพอาหารที่แย่ลง
- อาจทำให้ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานขนมขบเคี้ยวเป็นอาหารว่างมากเกินไป จนไม่สามารถรับประทานอาหารมื้อหลักได้ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน