พริกไทย เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศรสชาติเผ็ดร้อนที่อยู่คู่ครัวคนไทยมาอย่างยาวนาน นิยมปลูกในจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด สามารถรับประทานได้ทั้งแบบพริกไทยอ่อน หรือนำไปทำเป็นพริกไทยป่น พริกไทยอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินบี แมงกานีส และมีสารสำคัญที่อาจช่วยเรื่องการป้องกันหรือบรรเทาอาการและโรคบางชนิดได้ เช่น ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ปรับปรุงการทำงานของประสาทและสมอง แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลต่อร่างกายได้
คุณค่าทางโภชนาการของพริกไทย
พริกไทย 100 กรัม อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
- พลังงาน 255 แคลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 64.8 กรัม
- ไฟเบอร์ 26.5 กรัม
- โปรตีน 11 กรัม
- ไขมัน 3.3 กรัม
- โพแทสเซียม 1,259 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 437 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 60.3 มิลลิกรัม
- แมงกานีส 5.6 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ พริกไทยยังมีสารไพเพอรีน (Piperine) ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมีที่ทำให้พริกไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน และช่วยเพิ่มการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด อีกทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคระบบทางเดินหายใจ
ประโยชน์ของพริกไทยต่อสุขภาพ
พริกไทย มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของพริกไทย ดังนี้
-
อาจช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร
พริกไทยมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกรดเกลือ (Hydrochloric Acid) ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นกรดที่ช่วยในการย่อยอาหารประเภทโปรตีน ทำให้กระเพาะสามารถย่อยและดูดซึมได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยในการขับลมในลำไส้ จากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Targets and Therapeutic Uses of Spices ปี พ.ศ. 2552 ศึกษาเกี่ยวกับสารพฤกษเคมีในพริกไทยและผลต่อสุขภาพ พบว่า สารไพเพอรีนในพริกไทยดำ จะช่วยกระตุ้นการผลิตกรดเกลือในกระเพาะอาหารและกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยจากตับอ่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยอาหาร และการดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้น
-
อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ
พริกไทยมีสารไพเพอรีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติที่ช่วยต่อต้านการทำลายของอนุมูลอิสระ และป้องกันภาวะที่ร่างกายรับอนุมูลอิสระมากเกินไปจนขาดความสมดุล (Oxidative stress) ที่จะส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ภายในเซลล์ทำให้ทำงานผิดปกติและเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน จากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร LWT-Food Science and Technology ปี พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ของไพเพอรีนในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่า กรดไพเพอริกมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากและสามารถนำมาใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อแบคทีเรียในการถนอมอาหาร และเพื่อส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์
-
อาจช่วยต้านการอักเสบ
สารไพเพอรีนในพริกไทยมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคข้อเสื่อมได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ปี พ. ศ.2556 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของพริกไทยดำ พบว่า สารไพเพอรีนจะช่วยบรรเทาการอักเสบเฉียบพลันได้ โดยจะทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อที่ควบคุมการตอบสนองของร่างกายต่อการทำงานต่าง ๆ และความเครียด นอกจากนี้ ถ้าหากนำสารไพเพอรีนมาออกฤทธิ์ร่วมกับสารประกอบอื่น ๆ ก็จะสามารถช่วยยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวม จึงช่วยป้องกันภาวะการอักเสบต่าง ๆ ได้
-
อาจช่วยปกป้องระบบประสาทและสมอง
สารไพเพอรีนในพริกไทยมีฤทธิ์ช่วยปกป้องระบบประสาท และเพิ่มการทำงานของสมอง ทั้งยังมีฤทธิ์คล้ายยากล่อมประสาทที่ช่วยบรรเทาความเครียด นอกจากนั้นยังช่วยปรับสมดุลภาวะซึมเศร้า โดยช่วยปรับปรุงการควบคุมความเครียดต่อการทำงานของร่างกาย จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition ปี พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของพริกไทยดำ พบว่า ไพเพอรีนอาจมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นความจำ ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ยังเป็นเพียงงานวิจัยในสัตว์ ควรมีการวิจัยในมนุษย์ต่อไปเพื่อยืนยันสรรพคุณของพริกไทยในการส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทและสมอง
-
อาจช่วยป้องกันมะเร็ง
สารไพเพอรีนในพริกไทยอาจมีฤทธิ์ช่วยต้านเซลล์มะเร็งได้ในหลายกระบวนการ เช่น กระบวนการการยับยั้งเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็ง กระบวนการที่ส่งผลต่อการตายของเซลล์ กระบวนการการปรับปรุงระบบการฟื้นตัวของเซลล์ให้เป็นปกติ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Cell and Developmental Biology ปี พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับสารไพเพอรีนและเคมีบำบัดมะเร็ง พบว่า สารไพเพอรีนนั้นจะช่วยปรับการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ และยับยั้งการลุกลามและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง นอกจากนั้นสารไพเพอรีนยังช่วยในการส่งเสริมการดูดซึมสารเคมีบำบัดในการรักษามะเร็งด้วย
ข้อควรระวังในการรับประทานพริกไทย
พริกไทยอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ด้วยรสชาติที่จัดจ้านและเผ็ดร้อน หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลกระทบดังนี้
- อาจทำให้ระบบย่อยอาหารมีปัญหา และแสบร้อนในปากและลำคอได้
- สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ หากรับประทานพริกไทยมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการแท้งลูก หรืออาจเสี่ยงต่อการตกเลือดในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอถึงปริมาณที่ควรบริโภค
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ สารไพเพอรีนอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า หากรับประทานพริกไทยมากเกินไป อาจทำให้เสี่ยงเลือดออก
[embed-health-tool-bmr]