backup og meta

พริกไทยดํา สรรพคุณ และข้อควรระวังในการรับประทาน

พริกไทยดํา สรรพคุณ และข้อควรระวังในการรับประทาน

พริกไทยดํา คือ เครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ขนาดเล็ก มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมนำมาปรุงอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโจ๊ก ข้าวต้ม สเต็ก และอาหารประเภทผัด เป็นต้น พริกไทยดำอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส และมี สรรพคุณ มากมาย ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระลดความเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรังได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าโภชนาการพริกไทยดำ

พริกไทยดำ 1 ช้อนโต๊ะ (6.9 กรัม) ให้พลังงานประมาณ 17.3 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โพแทสเซียม 91.8 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 30.6 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 11.2 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 10.9 มิลลิกรัม

นอกจากนี้พริกไทยดำยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี แมงกานีส ที่อาจมีสรรพคุณในการช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่ส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพจนนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรัง

พริกไทยดำ มี สรรพคุณ อะไรบ้าง

พริกไทยดำมีสรรพคุณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังหรือบรรเทาอาการโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เช่น โรคตับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Public Health Emergency Collection ปี พ.ศ. 2565 ที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางโมเลกุลของสารพิเพอรีน (Piperine) ต่อการป้องกันและจัดการโรค โดยสารพิเพอรีนเป็นสารที่อยู่ในพริกไทยดำ พริกไทยขาว และดีปลี ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ช่วยลดความดันโลหิต และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังหรือมีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคข้ออักเสบ โรคมะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Public Health Emergency Collection ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพของเครื่องเทศและสมุนไพรต่อการต้านไวรัสและกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในช่วงโควิด-19 ที่อาจส่งผลรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ พบว่า การรับประทานพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น ขิง อบเชย กานพลู กระเทียม โหระพา สะเดา และพริกไทยดำ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ อย่างสังกะสี วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 และไวรัสเดงกีที่ส่งผลให้เป็นโรคไข้เลือดออกหรืออาจช่วยบรรเทาอาการเมื่อเจ็บป่วยและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ได้

ข้อควรระวังในการรับประทานพริกไทยดำ

ข้อควรระวังในการรับประทานพริกไทยดำ มีดังนี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยารักษาโรคก่อนปรุงอาหารด้วยพริกไทยดำหรือรับประทานพริกไทยดำ ควรขอคำปรึกษาคุณหมอถึงปริมาณการใช้พริกไทยดำอย่างเหมาะสม เนื่องจากพริกไทยดำมีสารพิเพอรีน ที่อาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยาได้ไม่ดี
  • สำหรับผู้ที่แพ้พริกไทยดำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของพริกไทยดำ โดยอาจหลีกเลี่ยงไปใช้เครื่องเทศชนิดอื่นหรือใช้พริกสดและพริกป่นในการเพิ่มรสชาติแทน นอกจากนี้ควรสังเกตอาการตนเองหลังรับประทานพริกไทยดำ หากมีอาการแพ้ เช่น ริมฝีปาก ลิ้นและใบหน้าบวม อาเจียน ปวดท้อง ผื่นลมพิษ หายใจลำบาก ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาทันที
  • การรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยพริกไทยดำมากเกินไปอาจทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณลำคอและท้องได้ นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการรับประทานพริกไทยดำ เพราะหากรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานพริกไทยดำ
  • สารพิเพอรีนในพริกไทยดำอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดออกมากโดยเฉพาะผู้ที่แผลสดและผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยพริกไทยดำประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Black Pepper: Health Benefits, Nutrition, and Uses. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-black-pepper.Accessed December 28, 2022

Black Pepper And White Pepper – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-800/black-pepper-and-white-pepper.Accessed December 28, 2022

Spices, pepper, black.https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170931/nutrients.Accessed December 28, 2022

Molecular and pharmacological aspects of piperine as a potential molecule for disease prevention and management: evidence from clinical trials.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8796742/.Accessed December 28, 2022

Spices and herbs: Potential antiviral preventives and immunity boosters during COVID‐19. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8013177/.Accessed December 28, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/12/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารแคลอรี่ต่ำ มีอะไรบ้าง ดีต่อสุขภาพอย่างไร

อาหารคลีน เป็นอย่างไร ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา