วิธีลด เหนียง เป็นวิธีที่อาจช่วยลดไขมันสะสมใต้ชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณใต้คาง ลดปัญหาผิวหนังใต้คางหย่อนคล้อยเนื่องจากการสะสมของไขมันที่มากเกินไป รวมถึงลดเหนียงที่เกิดขึ้นตามวัย ซึ่งวิธีลดเหนียงอาจทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และวิธีทางการแพทย์
เหนียง เกิดจากอะไร
เหนียง คือ ลักษณะผิวหนังหย่อนคล้อยบริเวณใต้คาง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจากไขมันใต้ผิวหนังที่สะสมในปริมาณมากบริเวณใบหน้าและใต้คาง พบบ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ เหนียงยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
- พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีลักษณะใบหน้าสั้นหรือมีเหนียงตั้งแต่กำเนิด อาจส่งต่อทางพันธุกรรมได้
- อายุ การสะสมของไขมันบริเวณผิวหนังใต้คางร่วมกับความยืดหยุ่นของผิวหนังที่ลดลงตามอายุ อาจทำให้ผิวหนังใต้คางหย่อนคล้อยและเกิดเป็นเหนียงได้
- ลักษณะทางกายภาพและการเผาผลาญไขมัน แต่ละคนมีการเผาผลาญไขมันและการสะสมของไขมันในร่างกายที่แตกต่างกัน ในบางคนอาจมีรูปร่างผอมและไขมันสะสมมากที่บริเวณใบหน้าและใต้คาง ส่งผลให้คนผอมอาจมีเหนียงได้เช่นกัน
- พฤติกรรมท่าทางที่ทำซ้ำ ๆ เช่น การก้มหน้าเล่นมือถือเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังบริเวณใต้คางถูกกดทับซ้ำ ๆ จนเกิดความอ่อนตัว และเมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้ผิวหนังใต้คางหย่อนคล้อย สูญเสียความยืดหยุ่นจนกลายเป็นเหนียง
- การรับประทานอาหาร เหนียงอาจมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสะสมของไขมันใต้ผิวหนังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีไขมันในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมันและหนัง อาหารแปรรูป ของทอด จึงอาจทำให้เกิดการสะสมไขมันใต้คางมากขึ้น
วิธีลด เหนียง
วิธีลด เหนียง อาจมีเป้าหมายเพื่อลดการสะสมของไขมันใต้คาง ซึ่งสามารถช่วยลดเหนียงได้ในระยะยาว โดยวิธีลดเหนียงอาจทำได้ ดังนี้
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอาจเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งช่วยลดการสะสมของไขมันทั่วทั้งร่างกาย รวมทั้งช่วยลดไขมันบริเวณใต้คาง โดยควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์
นอกจากนี้ สามารถออกกำลังกายใบหน้าโดยมุ่งเป้าหมายไปที่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอและใบหน้า เพื่อช่วยเผาผลาญไขมันบริเวณใบหน้าและลำคอซึ่งอาจช่วยกำจัดเหนียงได้ โดยวิธีออกกำลังกายเพื่อลดเหนียงอาจทำได้ ดังนี้
- การวอร์มอัพ เป็นการวอร์มกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ ด้วยการหมุนคอไปรอบ ๆ จากซ้ายไปขวาและสลับจากขวาไปซ้าย จากนั้นก้มศีรษะไปข้างหน้าและเงยหน้าขึ้นสลับกัน ทำท่าละ 3-5 ครั้ง
- ท่าเงยหน้ายืดขากรรไกร โดยการเงยหน้าขึ้นมองเพดาน ดันกรามล่างไปข้างหน้าจนรู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นกลับไปตำแหน่งเดิมและทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
- ท่าออกกำลังกายด้วยลูกบอลยาง โดยใช้ลูกบอลยางขนาดประมาณ 9-10 นิ้ว วางไว้ใต้คาง จากนั้นกดคางลงบนลูกบอลยาง ค้างไว้ 5 วินาที/ครั้ง สามารถทำซ้ำได้หลายครั้งต่อวัน
- ท่าจูบ โดยเงยหน้าขึ้นมองเพดานและยื่นริมฝีปากขึ้นดานบนให้มากที่สุดเพื่อยืดกล้ามเนื้อใต้คาง ค้างไว้ 5 วินาที/ครั้ง จากนั้นกลับไปตำแหน่งเดิมและทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
- ท่ายืดลิ้น โดยการมองไปข้างหน้าและแลบลิ้นออกไปให้ไกลที่สุด ยกลิ้นขึ้นไปทางจมูกแล้วค้างไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นกลับไปตำแหน่งเดิมและทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
- ท่ายืดคอ โดยการเงยหน้าขึ้นมองเพดานพร้อมกับการใช้ลิ้นดันเพดานปากไว้ ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที จากนั้นกลับไปตำแหน่งเดิมและทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
- ท่าบริหารกราม โดยการเงยหน้าขึ้นมองเพดาน จากนั้นเอียงคอไปทางขวาพร้อมกับดันขากรรไกรไปข้างหน้า ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที แล้วทำสลับไปด้านซ้าย ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง
การควบคุมอาหาร
อาหารอาจเป็นสาเหตุหลักที่เพิ่มการสะสมไขมันในร่างกาย จึงควรควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยลดน้ำหนักและลดการสะสมของไขมัน โดยการควบคุมอาหารอาจทำได้ ดังนี้
- รับประทานผักและผลไม้มากขึ้น เช่น ผักกาดขาว คะน้า แครอท บร็อคโคลี่ ผักโขม แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ ข้าวโพด สับปะรด แก้วมังกร อินทผลัม ลูกพรุน เนื่องจากในผักและผลไม้อุดมไปด้วยใยอาหารที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย ใยอาหารในปริมาณมากอาจช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มนานขึ้น รวมถึงช่วยชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาล จึงอาจช่วยลดการสะสมของไขมันในร่างกายได้เป็นอย่างดี
- รับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเหล่านี้อุดมไปด้วยใยอาหาร โปรตีน และมีน้ำตาลน้อย ซึ่งดีต่อสุขภาพลำไส้และช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น จึงอาจช่วยลดการสะสมไขมันในร่างกายได้
- รับประทานโปรตีนไม่ติดมันและหนัง เพราะไขมันและหนังของสัตว์เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัวที่อาจสะสมในกระแสเลือด ส่งผลให้คอเลสเตอรอลสูงและไขมันสะสมมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป เนื่องจากอาหารแปรรูปเต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัว โซเดียมและน้ำตาล ซึ่งหากรับประทานมากเกินไปร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมใต้ผิวหนังในบริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงยังอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
- รับประทานให้เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน คือ ผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ควรได้รับพลังงานประมาณ 1,600 แคลอรี่/วัน ผู้ชายวัยผู้ใหญ่ควรได้รับพลังงานประมาณ 2,000 แคลอรี่/วัน และผู้ที่ต้องใช้พลังงานมากในแต่ละวัน เช่น ออกกำลังกาย เกษตรกร งานใช้แรงงาน ควรได้รับพลังงานประมาณ 2,400 แคลอรี่/วัน
การรักษาโดยคุณหมอ
การลดเหนียงด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่ต้องทำโดยคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งวิธีลดเหนียงโดยคุณหมออาจทำได้ ดังนี้
- เมโสเทอราพี (Mesotherapy) เป็นการฉีดสารสกัดจากวิตามินเข้าใต้คางเพื่อสลายไขมัน โดยวิธีการรักษานี้อาจใช้เวลานานถึง 6 เดือน และอาจต้องฉีดหลายครั้งขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันใต้คางของแต่ละคน
- การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นวิธีการกำจัดเหนียงด้วยการดูดไขมันใต้คางออกโดยจะไม่ทำร้ายผิวหนัง
- ยาไคเบลล่า (Kybella) ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์กรดดีออกซีโคลิก (Deoxycholic Acid) เป็นยาฉีดที่อาจมีคุณสมบัติช่วยลดเหนียงที่เกิดจากพันธุกรรม ความอ้วนหรือผิวหนังที่หย่อนคล้อยจากอายุที่เพิ่มขึ้น
[embed-health-tool-bmi]