เมื่อได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล เครียด หรือว่ากลัว ซึ่งปัญหา ความเครียด ความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งปอด นั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น วันนี้ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งปอดว่ามีอะไรบ้าง และควรจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างไรดี
ความเครียด ความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งปอด มีอะไรบ้าง
ความวิตกกังวล เป็นความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น กังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จนทำให้รู้สึกกลัว จนบางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่งผลทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย บางครั้งความวิตกกังวลเหล่านี้ยังส่งผลต่อการนอนหลับ ความสัมพันธ์ และสุขภาพโดยรวมอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งปอด มีดังนี้
อาการแพนิค
อาการแพนิค เป็นความกลัว ความวิตกกังวล ตื่นตระหนก หวาดกลัวอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ที่มีอาการแพนิครุนแรงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น
- สั่น
- รู้สึกโดดเดี่ยว
- กลัวความตาย
- เจ็บหน้าอก
ความเครียด
ความเครียดเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้รู้สึกกดดัน ไม่สบายใจ กลัว หากไม่สามารถจัดการความเครียดได้ จนเกิดเป็น ความเครียดเรื้อรัง ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ หัวใจเต้นแรง
โรควิตกกังวล (Anxiety disorders)
โรควิตกกังวลนั้นมีหลายประเภท สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดอาจเกิดความวิตกกังวลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
วิธีจัดการความเครียด ความวิตกกังวลในผู้ป่วยมะเร็งปอด
ในช่วงที่ป่วยถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไหนจะต้องต่อสู้กับอาการของโรค แถมจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย การได้พูดคุยกับใครสักคนที่รู้ใจ อาจจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ นอกจากนี้การนอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายดีขึ้นได้ ส่งผลให้สมองมีการทำงานที่ดีนอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่น ๆ ที่ช่วยจัดการความความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น ดังนี้
หายใจเข้าลึก ๆ
การหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเรื่องที่ง่าย แต่เป็นวิธีที่ช่วยจัดการกับความวิตกกังวลได้ดี นอกจากนี้ การฝึกกำหนดลมหายใจ หายใจเข้าลึก ๆ ยังมีประโยชน์เมื่อหายใจได้ลำบากอีกด้วย
การหายใจเข้าลึก ๆ เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กะบังลม ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมการหายใจ เมื่อกระบังลมมีความแข็งแรงก็จะสามารถนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นโดยที่ใช้พลังงานน้อยลง
มีสติ
สติถือเป็นเรื่องสำคัญเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ เมื่อใช้ชีวิตอย่างมีสติ จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน การฝึกสติจะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วิตกกังวล คิดล่วงหน้าไปก่อน
การบำบัด
เมื่อไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง การเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดและความวิตกกังวลได้
นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับให้เพียงพอเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการควบคุมอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อนอนหลับไม่เพียงพอ การจัดการกับอารมร์และความเครียดอาจจะทำได้ยาก