ปั๊มนม เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของคุณแม่มือใหม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่จะต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด จำเป็นต้องปั๊มนมเก็บเอาไว้ให้ลูกน้อยกินระหว่างวัน คุณแม่มักเริ่มปั๊มนมทันทีหลังจากที่ลูกคลอด โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลซึ่งมักจะมีพยาบาลมืออาชีพคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปั๊มนม นอกจากนั้นแล้ว คุณแม่ควรศึกษาถึงขั้นตอนการปั๊ม การเก็บรักษา และวิธีการนำนมที่ปั๊มเก็บไว้มาให้ลูกน้อยดื่มเพิ่มเติมอีกด้วย
ข้อควรรู้ในการ ปั๊มนม
เวลาในการปั๊มนม
คุณแม่ส่วนใหญ่มักเลือกที่จะปั๊มนมในตอนเช้า แต่ทั้งนี้ เวลาในการปั๊มนมอาจขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณแม่แต่ละคน การปั๊มนมอาจทำหลังจากให้นมลูก 30-60 นาที หรือก่อนให้นมลูกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ภายใน 24 ชั่วโมงคุณแม่อาจปั๊มน้ำนมได้ถึง 8-10 ครั้ง โดยปริมาณนมแม่ที่เหมาะสมคือวันละ 750-1,035 มิลลิลิตร การให้นมลูกไปด้วย ปั๊มนมไปด้วย อาจไม่เหมาะกับคุณแม่บางคน คุณแม่จึงอาจปั๊มนมหลังจากให้นมลูก 1 ชั่วโมงแทน คุณแม่และลูกน้อยแต่ละครอบครัวมีกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรจัดเวลาในการปั๊มนมให้เหมาะกับตัวเอง
วิธีปั๊มนม
โดยทั่วไปแล้ว คุณแม่มักเลือกซื้อเครื่องปั๊มนมตามงบประมาณและความชอบเป็นหลัก และเครื่องปั๊มนมมักมีคู่มือวิธีการใช้มาให้ด้วย แต่โดยหลักๆ แล้ววิธีปั๊มนมทำได้ดังนี้
- อ่านคู่มือการใช้เครื่องปั๊มนมให้ละเอียด
- นั่งในท่าสบายๆ
- ตรวจสอบอุปกรณ์การปั๊มนมให้เรียบร้อย
- เครื่องปั๊มนมต้องพอดีกับเต้านมคุณแม่
- การปั๊มนม จะคล้ายเวลาให้นมลูก คุณแม่สามารถปรับระดับขณะใช้เครื่องปั๊มนมได้
การปั๊มนม ต้องไม่เจ็บ
เวลาปั๊มนมลูกต้องไม่รู้สึกเจ็บ คุณแม่อาจมีความรู้สึกคัดตึงเต้านม หรือรู้สึกไม่สบายตัวได้ แต่ไม่ควรถึงขั้นเจ็บ หากรู้สึกเจ็บ ต้องลองเปลี่ยนที่ปั๊มนม ให้เป็นขนาดที่เหมาะสมกับหน้าอก แต่ถ้าลองเปลี่ยนขนาดที่ปั๊มแล้วยังมีอาการเจ็บอยู่ ควรหยุดใช้ และอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
เก็บนมแม่ อย่างไรดี
คุณควรเก็บนมแม่ที่ปั๊มได้ในแก้ว ขวด หรือถุงเก็บน้ำนมที่สะอาด และสิ่งสำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาดก็คือ ต้องเขียนวันที่ปั๊มนมติดไว้ที่ภาชนะเก็บน้ำนมด้วย คุณแม่สามารถเก็บนมไว้ในตู้เย็นได้ และถ้าจำเป็นต้องแช่แข็งจริงๆ ก็แช่แข็งได้ แต่การแช่แข็งจะทำลายแอนตี้บอดี้ในน้ำนม ทำให้คุณประโยชน์ของนมแม่ลดลง แต่ลูกน้อยยังคงกินนมได้อยู่ หลังจากที่นำน้ำนมแม่ที่แช่แข็งไปละลายแล้ว
การอุ่นนม
หากต้องการอุ่นน้ำนมที่แช่ไว้ในช่องแช่แข็ง ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่กดน้ำร้อนใส่แก้ว ผสมน้ำเย็นให้อุ่นขึ้น จากนั้นจึงนำขวดนมหรือถุงเก็บนมแช่แข็งวางลงไปในแก้ว รอให้น้ำนมละลายและหายร้อนจึงค่อยนำไปให้เจ้าตัวน้อยกิน หากต้องปั๊มนมบ่อยๆ อาจซื้อขวดที่เก็บอุณหภูมิมาใช้เพื่อความสะดวก คุณแม่จะได้ไม่ต้องคอยอุ่นนมบ่อยๆ นมแม่ที่อุ่นแล้วสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 24 ชั่วโมง หรือเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ไม่นำนมที่ละลายแล้วกลับไปแช่เย็นใหม่
ข้อควรระวังในการอุ่นนมแม่ คือ ห้ามใช้ไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะจะทำให้สารอาหารในนมแม่หายไป และยังทำให้นมร้อน จนอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน
นมแม่สามารถเก็บในอุณหภูมิห้องได้นาน 6-8 ชั่วโมง หรือหากนำไปแช่ตู้เย็นที่มีอุณหภูมิระหว่าง 0-3.9 องศาเซลเซียส นมแม่จะอยู่ในตู้เย็นได้นาน 8 วัน
[embed-health-tool-vaccination-tool]