กลิ่นปาก ถือเป็นปัญหาสุขภาพช่องปาก ที่สามารถส่งผลให้คุณเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ เพราะปัญหากลิ่นปากมักทำให้คนเสียบุคลิกภาพ และเสียความมั่นใจเวลาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กลิ่นปากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากไข้หวัด ว่าแต่ทำไม เป็นหวัดแล้วมีกลิ่นปาก และคุณจะจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง บทความนี้ของ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้คุณแล้ว
[embed-health-tool-bmi]
เป็นหวัดแล้วปากมีกลิ่น เกิดจากสาเหตุใด
Diane Osso ผู้อำนวยการโครงการสุขอนามัยทันตกรรมที่วิทยาเขต Aurora ของ Concorde, Colo กล่าวว่า ปากคือกระจกสะท้อนสุขภาพร่างกายโดยรวมของเรา เพราะเมื่อเราเกิดปัญหาสุขภาพ ถึงแม้จะไม่ใช่ในช่องปาก เช่น เมื่อเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ร่างกายของเราจะได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยทางทันตกรรม หรือสุขภาพช่องปากด้วยเช่นกัน
เมื่อคุณรู้สึกอ่อนเพลีย ป่วย หรือฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ร่างกายมักจะแสดงสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็นผ่านทางสุขภาพช่องปาก สุขภาพผิว เป็นต้น ก่อนที่จะมีอาการป่วยตามมา ซึ่งสัญญาณที่พบบ่อย ได้แก่
- เหงือกอักเสบ
- ผื่นแดง
- อาการบวมน้ำ
- เจ็บเหงือก
ปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ อาจทำให้คุณเจ็บปวด จนแปรงฟันได้ไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการแปรงตามแนวเหงือก เมื่อแปรงฟันไม่สะอาด ย่อมส่งผลให้มีแบคทีเรียตกค้างในช่องปากมากเกินไป ซึ่งแบคทีเรียก็ถือเป็นสาเหตุเห็นของกลิ่นปากเช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่ เป็นหวัดแล้วปากมีกลิ่น นั่นก็เพราะน้ำมูกที่อุดตันรูจมูกตอนเป็นหวัด ทำให้คุณหายใจทางจมูกได้ลำบาก เลยต้องหายใจทางปากแทน พฤติกรรมนี้ส่งผลให้เนื้อเยื่อในช่องปากแห้งจนเกิดกลิ่นปาก นอกจากนี้ เวลาไม่สบาย เรามักจะดูแลสุขอนามัยส่วนตัวได้ลำบากขึ้น บางคนอาจไม่สะดวกอาบน้ำ แปรงฟันตามจำนวนครั้งที่ควร นั่นทำให้คราบจุลินทรีย์สะสมในช่องปากเยอะขึ้น จนเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหา กลิ่นปาก นั่นเอง
วิธีรับมือกับปัญหา กลิ่นปาก
แน่นอนว่าปัญหา กลิ่นปาก มักจะทำให้เสียบุคลิกภาพ และหมดความมั่นใจ ดังนั้น เพื่อลดกลิ่นปากและลดความเสี่ยงของโรคเหงือก คุณควรดูแลสุขภาพอนามัยภายในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ วิธีรับมือกับปัญหา กลิ่นปาก อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของกลิ่นปาก หากคุณคิดว่ากลิ่นปากของตัวเองเกิดจากสภาวะสุขภาพพื้นฐาน ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจะดีที่สุด เพราะทันตแพทย์สามารถช่วยให้คุณควบคุมอาการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในช่องปากได้ดีขึ้น วิธีทางทันตกรรมที่ช่วยให้แก้ปัญหากลิ่นปากให้คุณได้ ได้แก่
- การใช้บ้วนปากและยาสีฟันที่เหมาะสม
หาก กลิ่นปาก ของคุณเกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย หรือคราบจุลินทรีย์บนฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้น้ำยาบ้วนปากและยาสีฟันที่มีสารต้านเชื้อแบคทีเรีย เพื่อฆ่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดคราบจุลินทรีย์ที่ฟันซึ่งนำไปสู่ปัญหากลิ่นปาก
- การรักษาโรคเหงือกและฟัน
หากคุณเป็นโรคเหงือก คุณอาจถูกส่งตัวไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านเหงือก (ปริทันตวิทยา) โรคเหงือกอาจทำให้เหงือกมีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างเหงือกกับฟัน จึงทำให้แบคทีเรียเข้าไปสะสมได้ บางครั้งการทำความสะอาดแบบมืออาชีพเท่านั้นที่จะสามารถกำจัดแบคทีเรียเหล่านี้ได้ หลังเข้ารับการทำความสะอาดแบบมืออาชีพแล้ว ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณเปลี่ยนวิธีดูแลรักษาเหงือกและฟันใหม่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ช่องปากของคุณจะได้ไม่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรีย สาเหตุของกลิ่นปากและโรคอื่น ๆ
วิธีปรับไลฟ์สไตล์ เพื่อช่วยให้กลิ่นปากหายไป
นอกจากการรักษาด้วยการเข้าพบทันตแพทย์แล้ว การปรับไลฟ์สไตล์ก็สามารถลดหรือป้องกัน กลิ่นปาก ได้เช่นกัน โดยคุณสามารถทำได้ ดังนี้
- แปรงฟันหลังรับประทานอาหาร ลองพกแปรงสีฟันติดตัว หรือทิ้งแปรงสีฟันเอาไว้ที่ทำงาน เพื่อใช้หลังรับประทานอาหาร แนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังอาหาร ยาสีฟันที่มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย สามารถช่วยลดกลิ่นปากได้
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง การใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีจะช่วยขจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ระหว่างฟันของคุณ ทั้งยังช่วยควบคุมกลิ่นปากด้วย
- แปรงลิ้น ลิ้นของคุณเป็นแหล่งกักเก็บแบคทีเรีย ดังนั้น การแปรงอย่างระมัดระวังอาจช่วยลดกลิ่นปากได้ ยิ่งหากคุณอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงมีแบคทีเรียสะสมในช่องปากมากกว่าปกติ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีปัญหาปากแห้ง ยิ่งควรจะใช้ที่ขูดลิ้น หรือใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นเป็นประจำ
- ทำความสะอาดฟันปลอมหรืออุปกรณ์ทางทันตกรรม หากคุณใส่สะพานฟัน (Bridge) หรือฟันปลอม ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ทางทันตกรรมดังกล่าวอย่างน้อยวันละครั้ง หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์ หากคุณใส่รีเทนเนอร์ (Dental Retainer) หรือฟันยาง (Mouth Guard) ให้ทำความสะอาดทุกครั้งก่อนใส่เข้าปาก โดยคุณสามารถขอคำแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ดีที่สุดได้จากทันตแพทย์ของคุณ
- พยายามอย่าให้ปากแห้ง เพื่อให้ปากของคุณชุ่มชื้น ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ การดื่มกาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาจกระตุ้นการผลิตน้ำลายด้วยการเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอมแบบไม่มีน้ำตาลก็ได้ สำหรับผู้ที่มีอาการปากแห้งเรื้อรัง ทันตแพทย์อาจให้คุณใช้น้ำลายเทียม หรือรับประทานยาช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย
- ปรับอาหารของคุณ หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นแรง เช่น หัวหอม กระเทียม รวมถึงอาหารน้ำตาลสูง เช่น ลูกอม ขนมเค้ก เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่ายขึ้น
- เปลี่ยนแปรงสีฟันใหม่เป็นประจำ เปลี่ยนแปรงสีฟันเมื่อขนของแปรงสีฟันเกิดการหลุดร่วง โดยคุณควรเปลี่ยนทุก ๆ 3-4 เดือน และพยายามเลือกแปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม จะได้ไม่ทำร้ายเหงือกและฟัน
- เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ โดยทั่วไปควรพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อทำความสะอาดฟันขั้นพื้นฐาน เช่น ขูดหินปูน หรือตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ของเหงือกและฟัน
หากกลิ่นปากของคุณเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์ว่า คุณสามารถเปลี่ยนไปใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงเกิดกลิ่นปากน้อยกว่ายาที่ใช้อยู่ได้หรือไม่ และโปรดจำไว้ว่า คุณไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์โดยเด็ดขาด