เบาหวาน เป็นปัญหาทางสุขภาพที่คนไทยหลายคนกำลังเผชิญกันอยู่เป็นจำนวนมาก ผลข้างเคียงที่มาจากโรคเบาหวานนั้น เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย แต่คุณรู้หรือไม่ว่า เราอาจป้องกันการเกิด โรคเบาหวานได้ ด้วยการรับประทาน สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ที่ทาง Hello คุณหมอ ขอนำข้อมูลมาฝากกันในบทความนี้
4 สุดยอด สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด
1. ตำลึง
ตำลึง (Ivy Gourd) เป็นผักที่มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย มีใบคล้ายกับรูปหัวใจ สามารถพบได้ทั่วไปบริเวณริมรั้วต่าง ๆ เราสามารถนำตำลึงมาประกอบอาหารต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แกงจืดตำลึง ต้มเลือดหมู หรือยำตำลึง เนื่องจากตำลึงนั้นประกอบไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมาย ทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิด
ใบตำลึง 100 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 35 แคลอรี่ และมีโปรตีน เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และธาตุเหล็ก เป็นต้น จึงจัดได้ว่าเป็นยอดสมุนไพรมากคุณประโยชน์ ที่ทั้งหาง่าย และมีราคาถูกอีกด้วย
ทางด้านประโยชน์ต่อโรคเบาหวานนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบหลักฐานสนับสนุนว่าตำลึงอาจมีส่วนช่วยในการรักษา เบาหวาน ได้ โดยหนึ่งในนั้นคืองานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์อย่าง Diabetes Care พบว่า การบริโภคตำลึงปริมาณ 1 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 90 วันติดต่อกัน มีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 16% และ 18% เทียบกับผู้ที่ใช้ยาหลอก
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการรับประทานตำลึง อาจสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหารได้ ดังนั้นจึงช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้อินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
ยังไม่มีการพิสูจน์ความปลอดภัยของการใช้อาหารเสริมใบตำลึงในระยะยาว บางคนที่ใช้อาหารเสริมใบตำลึงอาจจะมีฤทธิ์คล้ายยาระบายอ่อน ๆ และอาจทำให้บางคนเกิดอาการท้องเสียได้ นอกจากนี้ การรับประทานใบตำลึงร่วมกับการใช้ยารักษา เบาหวาน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไป จนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ได้ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำคือ ตัวสั่น วิงเวียน วิตกกังวล เหงื่อออก หิว และความดันโลหิตต่ำ หากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรรับการช่วยเหลือในทันที
2. มะระขี้นก
มะระขี้นก (Bitter Melon) เป็นหนึ่งในผักพื้นบ้านที่เป็นที่คุ้นเคยคนไทยมานาน ผลมะระขี้นกจะมีลักษณะคล้ายกระสวย มีขนาดสั้น ผิวขรุขระมีปุ่มไปทั้งผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และผลแก่จะมีสีเหลืองอมแดง มีรสชาติขม เรานิยมนำผลมะระขี้นกอ่อนมาประกอบอาหาร โดยการนำมาต้มหรือลวกก่อน เพื่อลดทอนรสขมของมะระขี้นก แล้วจิ้มกินกับน้ำพริกต่าง ๆ หรืออาจจะใช้ผลมะระขี้นกเป็นส่วนผสมในแกงต่าง ๆ ชุบแป้งทอด หรือชุบไข่ทอดก็ได้เช่นกัน
มะระขี้นก นั้นมีการนำมาใช้เป็นยาเพื่อรักษาสภาวะต่าง ๆ มากมาย เช่น นำผลมาคั้นน้ำเพื่อใช้เป็นยาแก้ไข้ นำผลตากแห้งมาชงเพื่อช่วยทำให้เจริญอาหาร หรือผสมน้ำคั้นมะระขี้นกลงในดินสอพองเพื่อทาในบริเวณที่เป็นผดผื่น
นอกจากนี้ในมะระขี้นกยังมีสารสำคัญที่คล้ายกับอินซูลิน และมีผลในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เพื่อช่วยในการควบคุมปริมาณของระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งยังลดระดับของน้ำตาลทั้งในเลือดและในปัสสาวะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลให้เกิด เบาหวาน ได้
ข้อควรระวัง
ไม่ควรรับประทานผลมะระขี้นกที่สุกแล้ว เพราะจะส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเมล็ดของมะระขี้นกก็เป็นพิษอีกด้วย นอกจากนี้ คุณไม่ควรรับประทานมะระขี้นกติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล ผู้ป่วยโรคไตและโรคตับก็ควรระมัดระวังการรับประทานมะระขี้นก เนื่องจากสมุนไพรรสขมอย่างมะระขี้นก อาจส่งผลให้เกิดปัญหากับไตและตับได้ หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน
3. ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera) เป็นสมุนไพรพื้นบ้านยอดนิยมที่หลาย ๆ คนรู้จัก เพราะว่านห่างจระเข้สามารถนำมาใช้เป็นยาทั้งทาภายนอก กินเพื่อบำรุงร่างกาย ทั้งยังใช้ในเรื่องของความสวยความงามอีกด้วย
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคว่านหางจระเข้ อาจสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกัน เบาหวาน หรือช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ให้สามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ ยังสามารถช่วยลดระดับของไขมันในเลือด ลดอาการบวมของแผล และช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานมักจะมีปัญหาแผลหายช้า ดังนั้นว่านหางจระเข้จึงมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยควบคุมอาการของโรคเบาหวาน
ข้อควรระวัง
ควรระมัดระวังยางของว่านหางจระเข้ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ผู้ที่มักจะมีอาการแพ้บ่อย ๆ ก็ควรจะทดสอบอาการแพ้จากวุ้นและน้ำเมือกของว่านหางจระเข้ก่อนนำมาใช้อีกด้วย การรับประทานว่านหางจระเข้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษา เบาหวาน ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยา และทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้เช่นกัน
4. อบเชย
อบเชย เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นในของต้นอบเชย เรานิยมนำอบเชยมาประกอบอาหารต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องพะโล้ อบเชยทั้งมีคุณสมบัติทางยาต่าง ๆ มากมาย เช่น ป้องกันอาการท้องร่วง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ
นอกจากนี้ อบเชย ยังอาจช่วยในเรื่องของการลดระดับน้ำตาลในเลือด และต่อสู้กับโรคเบาหวาน ด้วยการเลียนแบบผลของอินซูลิน เพิ่มระดับความไวต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินสามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผลการเพิ่มระดับความไวของอินซูลินจากอบเชยนั้นอาจจะทำงานทันทีตั้งแต่รับประทานเข้าไป และออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่องถึง 12 ชั่วโมง และอาจช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย
ข้อควรระวัง
การรับประทานอบเชยร่วมกับยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ การรับประทานอบเชยในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและระบบทางเดินอาหารได้
[embed-health-tool-bmi]