backup og meta

กิจกรรมเสริมความจำในผู้สูงอายุ ยิ่งสูงวัยยิ่งต้องใส่ใจตัวเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    กิจกรรมเสริมความจำในผู้สูงอายุ ยิ่งสูงวัยยิ่งต้องใส่ใจตัวเอง

    คนเราเมื่อแก่ตัวขึ้นก็จะเริ่มมีอาการหลงลืมสิ่งที่เคยจดจำมา หรือสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เพราะสมองไม่ได้รับการกระตุ้นให้ถูกใช้งาน เมื่อไม่ถูกใช้งานก็จะทำให้สมองค่อยๆ ลดประสิทธิภาพของตนเองลง ดังนั้นถ้าไม่อยากให้ ผู้สูงอายุ ในครอบครัวต้องมีอาการหลงๆ ลืมๆ ล่ะก็ มาให้พวกท่านลองทำ กิจกรรมเสริมความจำในผู้สูงอายุ กันเถอะ

    ผู้สูงอายุกับปัญหาความจำ

    ผู้สูงอายุ หลายท่านมักประสบกับปัญหาความทรงจำ เมื่อถึงวัยที่แก่ตัวขึ้นก็จะมีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือร้ายแรงมากที่สุดคือเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) หรือโรคความจำเสื่อม

    ซึ่งปัจจัยส่วนใหญ่ของอาการหลงลืม หรือสูญเสียความทรงจำในวัยสูงอายุนั้นก็มาจากปัญหาของสุขภาพร่างกาย และปัจจัยในการใช้ชีวิต เพราะไม่ใช่คนสูงอายุทุกคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ การหมั่นออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะความจำ ก็จะช่วยลดอัตราของปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับความจำ หรืออาการหลงๆ ลืมๆ ในคนสูงวัยได้

    กิจกรรมเสริมความจำในผู้สูงอายุ สำหรับคุณตาคุณยาย

    ผู้สูงอายุ เมื่อแก่ตัวไปแล้วก็มักจะต้องอยู่กับบ้าน เพราะถือว่าเป็นวัยที่ต้องพักผ่อน ไม่ต้องออกไปทำอะไรให้เหน็ดเหนื่อยเหมือนเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน แต่การอยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีกิจวัตรอะไรให้ทำมากนัก หลายคนจึงเสี่ยงที่จะมีปัญหาในเรื่องความจำ แต่การทำกิจกรรมต่อไปนี้ จะช่วยลดโอกาสการสูญเสียความจำในผู้สูงอายุได้

    ออกกำลังกาย

    สำหรับ ผู้สูงอายุ แล้ว ไม่ต้องถึงกับไปเข้าฟิตเนส หรือออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงแบบที่คนหนุ่มคนสาวทำกัน เพียงแค่เดินให้มากขึ้น วิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน หรือแม้แต่กิจวัตรง่ายๆ อย่างการจัดสวน ก็เท่ากับการออกกำลังกายแล้ว

    พยายามให้มีการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี ยังกระตุ้นให้เซลล์สมองใหม่ๆ มีการเติบโตอีกด้วย

    ทำสวน/ตกแต่งสวน

    แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องมีเรือกสวนไร่นาเป็นร้อยๆ ไร่ แค่จัดตกแต่งสวนสวยงามหน้าบ้านหรือหลังบ้าน ก็เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นความจำได้ดีเหมือนกัน เช่น การจัดสวนแบบญี่ปุ่น หรือแบบอังกฤษ การใช้เวลารังสรรค์และตกแต่งสวนให้สวยงาม เป็นช่วงเวลาที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้อยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบ ปราศจากการรบกวน มีส่วนทำให้จิตใจสงบ ลดความไม่สบายใจและลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

    เล่นเกมตัวต่อ

    ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่ต้องเล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินและฝึกสมอง แต่คนสูงวัยก็ควรมีการเล่นเกมไว้ฝีกสมองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับเกมตัวต่อ ปริศนาอักษรไขว้ หรือเกมซูโดกุ เพราะมีผลการศึกษาพบว่า การทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาทและสมอง จะช่วยให้สมองได้ทำงานอยู่ตลอด และยังช่วยในการสร้างเซลล์สมองใหม่ๆ อีกด้วย

    เล่นโยคะ

    การเล่นโยคะ นอกจากจะช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว ยังเป็นกิจกรรมสำหรับผ่อนคลายความเครียด และความกดดันต่างๆ ทั้งนี้การเล่นโยคะแบบกลุ่มยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยคลายเหงาให้ ผู้สูงอายุ ได้ เพราะจะได้พบปะและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในคลาส ช่วยกระตุ้นให้เกิดทักษะทางสังคมมากขึ้น

    นั่งสมาธิ

    การนั่งสมาธิเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะแค่เพียงคนสูงอายุเท่านั้น เพราะการนั่งสมาธิเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับการเล่นโยคะ คือช่วยลดความเครียด ได้ความสงบ มีผลการศึกษาสำหรับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ว่า การนั่งสมาธิวันละ 15-30 นาที ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างของระบบประสาทและสมอง ทำให้สมองไม่หยุดการทำงาน

    เล่นไพ่

    การเล่นไพ่เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองได้เป็นอย่างดี เพราะต้องใช้ทั้งสติปัญญาและไหวพริบในการแก้เกมจนกว่าจะจบเกม ผู้สูงอายุ สามารถใช้กิจกรรมนี้ทำในยามว่างเพื่อเสริมสร้างให้สมองได้ใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นช่วยลดอาการซึมเศร้าและคลายเครียดได้ดี

    เข้าสังคมกับผู้อื่น

    ผู้สูงอายุ มักจะต้องถูกทิ้งให้อยู่แต่บ้าน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะมีภาวะซึมเศร้าเพราะความเหงาและความโดดเดี่ยวที่จะต้องอยู่คนเดียว หาเวลาหรือเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เพื่อให้ได้พบปะกับคนอื่นๆ หรือคนในวัยเดียวกันจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ คลายความโดดเดี่ยว สมองมีทักษะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต

    ฟังเพลง

    กิจกรรมยามว่างที่เหมาะกับผู้สูงอายุอีกอย่างหนึ่งก็คือการฟังเพลง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงสำหรับการบำบัดเท่านั้น เพราะการฟังเพลงใดๆ ก็ตามทั้งเพลงเก่า เพลงใหม่ หรือแนวดนตรีแปลกใหม่ ต่างก็มีส่วนช่วยกระตุ้นสมองและความจำได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

    สร้างความท้าทายให้ตัวเองทุกๆ วัน

    ผู้สูงอายุ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองแก่ตัวไปแล้วก็มักจะทำแต่สิ่งเดิม ๆ วนเวียนจนเป็นกิจวัตร แต่การทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น จะเป็นการกระตุ้นให้สมองถูกใช้งาน ลดโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะความจำเสื่อม โดยอาจลองเขียนหนังสือด้วยมือที่ไม่ถนัด ดูหนังแนวใหม่ๆ เป็นอาสาสมัครกิจกรรมต่างๆ หรือมีการใช้บันไดแทนบันไดเลื่อน เป็นต้น

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา