หลายคนอาจจะรับทราบกันดีอยู่แล้วว่า การดื่มนม นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะในนมนั้นมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่ผลการวิจัยล่าสุดนี้ อาจจะทำให้เราทุกคนยิ่งรักการดื่มนมมากขึ้นอีกก็ได้ เพราะมีงานวิจัยที่พบว่า ดื่มนม วันละ 2 แก้ว อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิด โรคหัวใจ ได้ การดื่มนมและโรคหัวใจนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร หาคำตอบได้จากบทความที่ Hello คุณหมอ นำมาฝากกันในวันนี้
งานวิจัยพบอะไรเกี่ยวกับการ ดื่มนม และ โรคหัวใจ
มีงานวิจัยจาก The Prospective Urban Rural Epidemiology (PURE) ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 135,000 ราย จาก 21 ประเทศทั่วโลก และใช้เวลาในการค้นคว้านานกว่า 9 ปี
งานวิจัยนั้นพบว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวันละ 2 มื้อ เช่น ดื่มนมวันละ 2 แก้ว หรือรับประทานโยเกิร์ตวันละ 2 ถ้วย อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ได้มากกว่า เมื่อเทียบกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานนมเป็นประจำ
อ้างอิงจากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง ผู้ใหญ่ที่ดื่มนมวันละ 2 แก้วขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจลดลง 22% มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลดลง 34% และยังมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตเนื่องจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจลดลงถึง 23%
แม้ว่าในงานวิจัยนั้นจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมการดื่มนมวันละ 2 แก้ว ถึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ แต่นักวิชาการก็เชื่อว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมนั้น จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น
- วิตามินดี
- วิตามินเค
- แคลเซียม
- โพแทสเซียม
- แมกนีเซียม
- ฟอสฟอรัส
- โปรตีน
- กรดไขมันนมต่าง ๆ
คำแนะนำในการรับประทานนม
สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association; AHA) ได้ให้คำแนะนำในการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ดังต่อไปนี้
เด็ก ควรรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม อย่างน้อยวันละ 2 ถ้วยขึ้นไป
ผู้ใหญ่ ควรรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม อย่างน้อยวันละ 2-3 ถ้วย
วัยรุ่นและผู้สูงอายุ ควรรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม อย่างน้อยวันละ 4 ถ้วยขึ้นไป
แม้ว่าในแนวทางคำแนะนำการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมนั้น อาจจะแนะนำให้เลือกรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน เช่น นมพร่องมันเนย หรือโยเกิร์ตไม่มีไขมัน อย่างไรก็ตามงานวิจัยนั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการรับประทานนมไขมันเต็ม (whole milk) และนมพร่องมันเนย กับผลในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งกรดไขมันนมยังอาจมีสรรพคุณที่สามารถช่วยต้านอักเสบ และช่วยจัดการกับไขมันในเลือด ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจทั้งสิ้น
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า หากเราต้องการดื่มนมเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ก็สามารถเลือกรับประทานได้ ทั้งนมไขมันเต็ม และนมไขมันต่ำนั่นเอง
[embed-health-tool-bmr]