backup og meta

ผิวแห้ง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผิวแห้ง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผิวแห้ง คือ ปัญหาสุขภาพผิวที่อาจพบได้บ่อย โดยสังเกตได้จากอาการผิวหยาบกร้าน ขาดความชุ่มชื้น ผิวแตก ผิวเป็นสะเก็ด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น สภาพอากาศ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว โรคผิวหนัง ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการดูแลผิวที่ช่วยฟื้นฟูผิวให้มีสุขภาพที่ดีและช่วยป้องกันอาการผิวแห้ง

ผิวแห้ง คืออะไร

ผิวแห้ง คือ สภาพผิวหนังที่ขาดความชุ่มชื้น หยาบกร้าน และลอกเป็นขุย ซึ่งปัญหาสุขภาพผิวที่พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง และสามารถป้องกันได้โดยการบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่ผิวแห้งอาจเกิดจากโรคผิวหนังต่าง ๆ เช่น กลาก น้ำกัดเท้า โรคผื่นแพ้สัมผัส ผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) 

อาการของผิวแห้ง

อาการของผิวแห้ง มีดังนี้

  • ผิวแห้ง หยาบกร้านและเป็นสะเก็ด
  • อาการคัน
  • ผิวเป็นรอยขีดขาวเมื่อใช้เล็บขูด
  • ผิวลอกเป็นขุย
  • สีผิวไม่สม่ำเสมอ
  • ผิวแตก และอาจมีเลือดออกเล็กน้อย
  • ผิวขาดความกระชับและรู้สึกผิวตึง โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ หรือว่ายน้ำ

ปัญหาผิวแห้งอาจสามารถฟื้นฟูผิวให้กลับมาชุ่มชื้นได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีอาการผิวแห้งที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส รู้สึกคันมากกว่าปกติ มีผื่นขึ้น หรือผิวแห้งรักษาไม่หาย ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังบางอย่าง

สาเหตุของผิวแห้ง

สาเหตุของผิวแห้ง มีดังนี้

  • สภาพอากาศ เช่น อากาศหนาวเย็น มีลมแรง เพราะอาจทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น
  • ความร้อน ความร้อนจากเครื่องทำความร้อนหรือเตาอาหารอาจทำให้ความชุ่มชื้นของผิวหนังลดลง นำไปสู่อาการผิวแห้งได้
  • อาบน้ำนานเกินไป และอาบน้ำด้วยน้ำร้อน รวมถึงการขัดผิวบ่อย ๆ อาจกำจัดน้ำมันบนผิวหนังที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว และทำให้ผิวแห้ง
  • ผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น สบู่ ผงซักฟอก แชมพู ซึ่งมีสารที่ดึงน้ำมันออกจากผิวหนัง เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกบนผิว แต่อาจส่งผลให้ผิวแห้ง และอาจทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง
  • โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน โรคสะเก็ดเงิน อาจมีแนวโน้มที่ส่งผลให้ผิวแห้งร่วมด้วย ซึ่งควรเข้ารับการรักษาทันที หากสังเกตว่ามีผื่นขึ้นบนผิวหนังเป็นวงแดง ผิวหนังตกสะเก็ด และมีอาการคันมากกว่าปกติ 
  • การรักษาทางการแพทย์ เช่น การทำเคมีบำบัด การใช้ยาบางชนิด อาจส่งผลกระทบต่อผิว นำไปสู่อาการผิวแห้ง

ปัจจัยเสี่ยงของผิวแห้ง

ปัจจัยเสี่ยงของผิวแห้ง มีดังนี้

  • อายุ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เพราะร่างกายอาจเสื่อมสภาพตามช่วงอายุ ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวลดลง
  • อาชีพ ผู้ที่ทำงานอยู่กับความร้อน สารเคมีหรือต้องสัมผัสกับน้ำบ่อยครั้ง เช่น นักกีฬาว่ายน้ำ ช่างเสริมสวย พยาบาล โรงงานทำยาง ร้านซักรีด โรงงานทำขนม 
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคผิวหนังบ่อยครั้ง
  • ภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคเบาหวาน ภาวะทุพโภชนาการ
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะมีฮอร์โมนเพศหญิงลดลงซึ่งส่งผลให้ผิวแห้งได้

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยผิวแห้ง

การวินิจฉัยผิวแห้ง คุณหมออาจสอบถามประวัติสุขภาพเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว และพฤติกรรการดูแลผิว เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีอาการผิวแห้ง หรืออาจขอเก็บตัวอย่างสะเก็ดบนผิวหนังไปตรวจดูว่าเป็นโรคผิวหนังหรือไม่ เช่น โรคสะเก็ดเงิน กลาก และเกลื้อน 

การรักษาผิวแห้ง

การรักษาผิวแห้งอาจทำได้ดังนี้

  • สำหรับผู้ที่มีผิวแห้ง มีอาการคันรุนแรง และอาการอักเสบ คุณหมออาจแนะนำให้ใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เพื่อช่วยลดการคัน ผิวบวม ผิวอักเสบและไม่ควรใช้กับใบหน้าหรือผิวใต้วงแขน เนื่องจากเป็นผิวที่มีความบอบบาง 
  • สำหรับผู้ที่มีผิวแห้งจากโรคผิวหนังติดเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน ควรใช้ครีมฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) และคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) เพื่อต้านเชื้อรา
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อต้านการอักเสบและลดการผลิตเซลล์ผิวหนัง
  • สำหรับผู้ที่มีผิวแห้งเนื่องจากภาวะสุขภาพต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ คุณหมออาจให้ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์หรือผ่าตัดโดยพิจารณาจากความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็น ภาวะทุพโภชนาการ คุณหมออาจวางแผนการรับประทานอาหารให้เหมาะสม และสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน คุณหมออาจรักษาด้วยยาลดน้ำตาลในเลือด การฉีดอินซูลิน วางแผนการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อเพิ่มสารอาหารให้ร่างกาย

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันผิวแห้ง 

  • จำกัดเวลาอาบน้ำไม่ควรเกิน 5-10 นาที และควรอาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็นอีกทั้งหลังอาบน้ำเสร็จควรใช้ผ้าขนหนูซับให้แห้ง ไม่ควรเช็ดผิวอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันการระคายเคือง หลังอาบน้ำควรทาครีมตอนที่ตัวยังหมาด ๆ อยู่ เพื่อให้ผิวคงความชุ่มชื้น
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากน้ำหอม เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก เพื่อป้องกันผิวระคายเคืองอาการแพ้ และผิวแห้ง
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวบ่อยและควรขัดอย่างเบามือ เพื่อป้องกันผิวหนังบาดเจ็บ และป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติบนผิว
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีมอยเจอร์ไรเซอร์ น้ำมันโจโจบา เชียบัตเตอร์ ปิโตเลียม กลีเซอรีน (Glycerin) และกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic acid) และควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids: AHA) และเรตินอยด์ (Retinoid) เพราะอาจส่งผลให้สูญเสียน้ำมันบนผิวหนัง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้นและผิวแห้งได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าหนาและปกคลุมผิวหนัง เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่เย็นและมีลมแรง
  • ผู้ที่ทำงานกับความร้อนและสัมผัสกับสารเคมีควรสวมใส่เสื้อผ้า ถุงมือ และรองเท้าที่ปกคลุมผิว เพื่อลดการสัมผัสกับสารเคมี ทำความสะอาดร่างกายหลังเสร็จงานเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและสารเคมีที่อาจตกค้าง และควรบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dry skin. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-skin/symptoms-causes/syc-20353885.Accessed September 27, 2022 

Dry skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/dry-skin.Accessed September 27, 2022 

DERMATOLOGISTS’ TOP TIPS FOR RELIEVING DRY SKIN. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/SKIN-CARE-BASICS/DRY/DERMATOLOGISTS-TIPS-RELIEVE-DRY-SKIN.Accessed September 27, 2022 

9 ways to banish dry skin. https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/9-ways-to-banish-dry-skin.Accessed September 27, 2022 

6 Quick and Easy Dry Skin Relievers. https://www.webmd.com/beauty/features/6-tips-relive-dry-skin-fast.Accessed September 27, 2022 

Hydrocortisone Cream – Uses, Side Effects, and More

https://www.webmd.com/drugs/2/drug-10402-859/hydrocortisone-topical/hydrocortisone-topical/details.Accessed September 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผิวลอกเป็นขุย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

เกลื้อนแดด สาเหตุ อาการ วิธิรักษาและการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา