ไดเอ็ท หรือการควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารโปรตีนสูง การบริโภคอาหารแบบนับพลังงานแคลอรี่ หรือการหลีกเลี่ยงรับประทานคาร์โบไฮเดรตขัดสี นอกจากนั้น เพื่อให้การไดเอ็ทได้ผลและมีประสิทธิภาพ ควรนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
[embed-health-tool-bmi]
ไดเอ็ท คืออะไร
ไดเอ็ท ทับศัพท์มาจากคำว่า Diet ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าอาหาร อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย ไดเอ็ท หมายถึง การควบคุมอาหารหรือเลือกรับประทานอาหารเพื่อช่วยในการลดน้ำหนัก
ไดเอ็ท ทำได้อย่างไรบ้าง
การควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักนั้นทำได้หลายวิธี ดังนี้
บริโภคอาหารให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ
ร่างกายต้องการพลังงานเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อย่อยสลายและเปลี่ยนสารอาหารต่าง ๆ เป็นพลังงาน แต่หากร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่ต้องการในแต่ละวัน ทำให้เกิดการสะสมพลังงานส่วนเกินในรูปแบบของไขมัน เมื่อไขมันเพิ่มขึ้น น้ำหนักและขนาดตัวก็จะเพิ่มตาม ทำให้เสี่ยงมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
ทั้งนี้ ผู้ชายควรได้รับพลังงานจากอาหารประมาณ 2,500 แคลอรี่/วัน ส่วนผู้หญิงควรได้รับพลังงานจากอาหารประมาณ 2,000 แคลอรี่/วัน หากร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลง จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันที่สะสมไว้นำมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวค่อย ๆ ลดลง
อย่างไรก็ตาม ในการควบคุมน้ำหนักด้วยการนับจำนวนแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน ไม่ควรน้อยกว่า 1,200 แคลอรี่/วัน เพราะหากร่างกายได้รับพลังงานน้อยเกินไป ระดับการเผาผลาญพลังงานจะต่ำลง ซึ่งส่งผลให้การ ลดน้ำหนัก เป็นไปได้ยากขึ้น อีกทั้งอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าได้ง่าย
เลือกบริโภคอาหารโปรตีนสูง
การบริโภคอาหารโปรตีนสูง หรือการเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก จะช่วยให้ระดับฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มท้องเพิ่มสูงขึ้น เช่น จีแอลพี-1 (GLP-1) เปปไทด์วายวาย (Peptide YY) คอเลซิสโทไคนิน (Cholecystokinin) และทำให้ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกหิวอย่างฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) มีปริมาณต่ำลง ดังนั้น การบริโภคอาหารโปรตีนสูงจึงช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ลดความอยากอาหาร และช่วยลดพลังงานส่วนเกิน และนำไปสู่การควบคุมน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการลดน้ำหนักด้วยการบริโภคอาหารโปรตีนสูง เผยแพร่ในวารสาร Journal of Obesity & Metabolic Syndrome ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า การบริโภคอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณที่สูงกว่าปริมาณที่แนะนำอาจช่วยลดน้ำหนักได้ และยังทำให้มวลไขมันลดลง โดยไม่พบผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นกระดูกหรือไต จึงสรุปได้ว่า การบริโภคอาหารโปรตีนสูงอาจเหมาะเป็นทางเลือกในการควบคุมน้ำหนัก และยังอาจช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคอ้วน และโรคที่เกิดจากโรคอ้วนอย่างเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันพอกตับได้ด้วย
เลือกบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยสูง
การบริโภคอาหารที่ประกอบไปด้วยใยอาหารที่ละลายน้ำได้อย่างเพคติน (Pectin) บีตา กลูแคน (β-glucan) ไซเลียม (Psyllium) หรือกลูโคแมนแนน (Glucomannan) อาจช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะใยอาหารกลุ่มนี้จะกลายเป็นเจลเมื่อสัมผัสกับน้ำ จึงทำให้ท้องอิ่มได้เป็นเวลานาน ลดความอยากอาหาร ทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงานส่วนเกิน ช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องใยอาหารและความอิ่มท้อง ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Reviews ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่า บีตา กลูแคน ซึ่งพบได้ในข้าวโอ๊ต ออกฤทธิ์ให้ลำไส้เล็กย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้ช้าลง ทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปรู้สึกอิ่มท้องนานขึ้น
นอกจากข้าวโอ๊ตแล้ว ยังมีอาหารอื่น ๆ ที่ประกอบไปด้วยใยอาหารที่ละลายน้ำได้และอาจเหมาะสำหรับเป็นตัวเลือกเพื่อใช้ในการไดเอ็ท เช่น ถั่ว หน่อไม้ฝรั่ง มันเทศ แอปริคอท
หลีกเลี่ยงการบริโภคคาร์โบไฮเดรตขัดสี
ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตขัดสี เช่น น้ำตาลทราย ข้าวขาว ขนมอบ เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื่องจากให้พลังงานสูง และยังกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารจนอาจนำไปสู่การบริโภคอาหารเกินพอดี
นอกจากนั้น หลังบริโภคคาร์โบไฮเดรตขัดสี ระดับน้ำตาลในเลือดมักสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลและระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติ อาจนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกินได้
ทั้งนี้ คาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสำหรับการไดเอ็ทคือ คาร์โบไฮเดรตที่ยังไม่ขัดสี อย่างขนมปังโฮลวีท ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโอ๊ต ถั่ว คีนัว และผักต่าง ๆ เพราะคาร์โบไฮเดรตกลุ่มนี้มีใยอาหารสูงกว่าคาร์โบไฮเดรตขัดสี จึงทำให้อิ่มท้องได้นานกว่า และไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น เพื่อให้การควบคุมอาหารเพื่อ ลดน้ำหนัก เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่ต้องการ ลดน้ำหนัก ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- รับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลัก ไม่กินจุบจิบ
- เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนเครื่องดื่มรสหวาน เพราะน้ำเปล่าไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อีกทั้งทำให้อิ่มท้องจึงอาจช่วยลดความอยากอาหารได้ด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
- นอนหลับให้เพียงพอ หรืออย่างน้อย 7 ชั่วโมง/คืน เพื่อป้องกันร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลินซึ่งทำให้หิว และนำไปสู่การบริโภคอาหารเกินพอดี
- เลือกดื่มกาแฟหรือชาไม่เติมน้ำตาล เพราะคาเฟอีนในเครื่องดื่มดังกล่าวมีคุณสมบัติเร่งการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย
- ระหว่างรับประทานอาหาร ค่อย ๆ เคี้ยว ไม่รีบร้อน เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้นานกว่า ลดการบริโภคอาหารส่วนเกิน และป้องกันน้ำหนักขึ้น