backup og meta

โรคไตห้ามกินอะไรบ้าง เพราะเหตุผลอะไร

โรคไตห้ามกินอะไรบ้าง เพราะเหตุผลอะไร

โรคไต หมายถึง โรคที่ไตทำหน้าที่กรองของเสียหรือสารอาหารจากเลือดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายมีสารอาหารสะสมอยู่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากถามว่า โรคไตห้ามกินอะไร คำตอบคือ โดยปกติ คุณหมอจะไม่มีข้อห้ามเกี่ยวกับรับประทานอาหารชนิดใดเป็นพิเศษ แต่มักแนะนำให้จำกัดการบริโภคสารอาหารบางอย่าง เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับสารอาหารดังกล่าวออกจากร่างกายได้ตามปกติ

[embed-health-tool-bmi]

โรคไต คืออะไร

โรคไตหรือบางครั้งเรียกว่าโรคไตเรื้อรัง เป็นโรคเกี่ยวกับไตแบบหนึ่ง ซึ่งไตจะไม่สามารถกรองของเสียจากเลือดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายสะสมของเหลวหรือสารอาหารไว้มากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงให้เสียชีวิตได้

โดยทั่วไป โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงมักเป็นสาเหตุของโรคไต นอกจากนี้ โรคไตยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเป็นโรคบางโรคที่เกี่ยวกับไต เช่น โรคหลอดเลือดแดงที่ไตตีบตัน โรคไตอักเสบลูปัส โรคไตอักเสบ
  • การติดเชื้อ
  • การบริโภคยาบางชนิดที่ส่งผลต่อสุขภาพไต
  • การได้รับพิษจากโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว

โรคไตห้ามกินอะไรบ้าง

เมื่อเป็นโรคไต คุณหมอหรือนักโภชนาการมักไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหาร แต่มักแนะนำให้บริโภคสารอาหารบางอย่างในปริมาณน้อย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการที่ไตไม่สามารถขับสารอาหารเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่

โซเดียม

โซเดียม เป็นธาตุอาหารที่ช่วยควบคุมระดับของเหลวในร่างกาย โดยทั่วไป ผู้ที่มีสุขภาพดีควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม/วัน แต่เมื่อเป็นโรคไต คุณหมอจะแนะนำให้บริโภคโซเดียมในปริมาณที่ต่ำกว่า โดยขึ้นอยู่กับสุขภาพของไตหรือระยะของโรคไต

ทั้งนี้ หากบริโภคโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ระดับของเหลวในร่างกายมีปริมาณสูงขึ้น และอาจนำไปสู่อาการผิดปกติต่าง ๆ อย่างแข้งบวม ความดันโลหิตสูง หรือหายใจไม่ออกได้

สำหรับอาหารโซเดียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่

  • เครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว
  • อาหารฟาสฟู้ดต่าง ๆ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟรายส์
  • อาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารกระป๋อง รวมถึงของขบเคี้ยวอย่างแครกเกอร์และมันฝรั่งทอด

ส่วนอาหารโซเดียมต่ำที่ควรบริโภคหากป่วยเป็นโรคไต ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ เนื้อปลา
  • ไข่
  • ข้าว ขนมปัง เส้นพาสต้า
  • ป๊อปคอร์น แครกเกอร์ แบบโซเดียมต่ำ
  • ผลไม้แห้ง
  • แกงจืดหรือซุปที่ไม่ใส่เกลือหรือซีอิ๊ว

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคโซเดียมและโรคไตเรื้อรัง เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า การบริโภคอาหารโซเดียมต่ำ เป็นวิธีการที่ถูกต้องสำหรับควบคุมภาวะบวมน้ำและความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยโรคไตทุกระยะ โดยปริมาณอาหารโซเดียมต่ำที่ควรบริโภคนั้น จะแตกต่างกันไปตามสภาพร่างกายแต่ละคน

โพแทสเซียม

เมื่อเป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินในเลือดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่จะถูกส่งไปยังไตและย้อนกลับเข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้ง และมักก่อให้เกิดอาการป่วยอย่างคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ตะคริว หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก รวมถึงโรคเกี่ยวกับหัวใจต่าง ๆ

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ควรบริโภคโพแทสเซียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารโพแทสเซียมสูง และเลือกรับประทานอาหารโพแทสเซียมต่ำ ดังต่อไปนี้

อาหารโพแทสเซียมสูง

  • ผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม
  • ผัก เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ
  • ข้าวกล้อง
  • ผลิตภัณฑ์จากนม
  • ขนมปังและเส้นพาสต้าจากธัญพืชเต็มเมล็ด
  • ถั่วชนิดต่าง ๆ

อาหารโพแทสเซียมต่ำ

  • ผลไม้ เช่น แอปเปิล ลูกพีช องุ่น
  • ผัก เช่น แครอท เมล็ดถั่วแขก
  • ข้าวขาว
  • ขนมปังและพาสต้าที่ทำจากแป้งขัดสี

ฟอสฟอรัส

ไตของผู้ป่วยโรคไตจะไม่สามารถจัดการปริมาณฟอสฟอรัสส่วนเกินได้ ทำให้เสี่ยงต่อการมีฟอสฟอรัสในเลือดสูง ซึ่งอาจส่งผลให้กระดูกเปราะ เป็นโรคหัวใจ ปวดตามข้อ หรือเสียชีวิตได้

โดยทั่วไป คุณหมอมักแนะนำให้บริโภคฟอสฟอรัสไม่เกิน 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน

สำหรับอาหารฟอสฟอรัสสูงที่ผู้ป่วยโรคไตควรบริโภคในปริมาณน้อย และอาหารฟอสฟอรัสต่ำที่อาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้

อาหารฟอสฟอรัสสูง

  • เนื้อสัตว์ เนื้อปลา
  • ข้าวโอ๊ต
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีสประเภทต่าง ๆ
  • ถั่วชนิดต่าง ๆ
  • น้ำอัดลมสีเข้ม เช่น น้ำโคล่า
  • น้ำสกัดเย็น เช่น ชา กาแฟ

อาหารฟอสฟอรัสต่ำ

  • ผัก เช่น แตงกวา พริกหวาน หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือม่วง แครอท กะหล่ำดอก
  • ผลไม้ เช่น แอปเปิล พลัม องุ่น แตงโม สับปะรด
  • น้ำนมข้าวต่าง ๆ
  • น้ำอัดลมสีอ่อน เช่น น้ำมะนาวโซดา จินเจอร์แอล (Ginger Ale)

โปรตีน

แม้ว่าโปรตีนจะจำเป็นต่อการสร้างกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และต่อสู้กับเชื้อโรค แต่ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดปริมาณการบริโภค หรือประมาณ 600-800 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน เนื่องจากไตไม่สามารถกำจัดของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนได้ทั้งหมด และหากมีของเสียหลงเหลืออยู่ในกระแสเลือดอาจก่อให้เกิดอาการมึนงง อาเจียน และหมดสติได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องการบริโภคโปรตีนและโรคไตเรื้อรัง เผยแพร่ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า การบริโภคโปรตีนในปริมาณมาก อาจทำให้ความดันในกระจุกเลือดฝอยของไตเพิ่มสูงขึ้น และไตมีอัตราการกรองของเสียที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้กระจุกเลือดฝอยเสียหาย และอาการของโรคไตเรื้อรังแย่ลงได้

คำแนะนำในการเลือกซื้ออาหารสำหรับผู้ป่วย โรคไต

หากถามว่า โรคไตห้ามกินอะไรบ้าง ควรพิจารณาเลือกซื้ออาหารตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกซื้ออาหารที่ปรุงสุกสดใหม่ เพราะอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องเพราะมักมีโซเดียมสูง
  • เลือกซื้อเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงที่ปราศจากโซเดียม ลดการบริโภคเกลือ ซีอิ๊ว หรือน้ำปลา
  • อ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้ออาหาร เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียม ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม โดยเลือกซื้อสินค้าที่มีสารอาหารดังกล่าวในปริมาณต่ำ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Eating Right for Chronic Kidney Disease. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/chronic-kidney-disease-ckd/eating-nutrition. Accessed December 16, 2022

Causes of Chronic Kidney Disease. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/chronic-kidney-disease-ckd/causes. Accessed December 16, 2022

Sodium Intake and Chronic Kidney Disease. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7369961/. Accessed December 16, 2022

Guidelines for a Low Sodium Diet. https://www.ucsfhealth.org/education/guidelines-for-a-low-sodium-diet. Accessed December 16, 2022

High potassium (hyperkalemia): Causes, prevention and treatment. https://www.kidneyfund.org/living-kidney-disease/health-problems-caused-kidney-disease/high-potassium-hyperkalemia-causes-prevention-and-treatment#:~:text=If%20you%20have%20kidney%20disease,and%20back%20into%20your%20bloodstream.

Dietary protein intake and chronic kidney disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27801685/. Accessed December 16, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/12/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต อาหารประเภทไหนที่ควรรับประทานและหลีกเลี่ยง

วิธีรับมือโรคไตเรื้อรังจากเบาหวาน ทำได้อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา